เงินๆงานๆ-อาชีพ » เจ้าของร้านเล่าสาเหตุ ทำร้านเพ็ทช็อปเจ๊ง เกิดจากอะไร? บทเรียนชั้นดีแม้ธุรกิจกำลังบูม

เจ้าของร้านเล่าสาเหตุ ทำร้านเพ็ทช็อปเจ๊ง เกิดจากอะไร? บทเรียนชั้นดีแม้ธุรกิจกำลังบูม

25 มกราคม 2024
111   0

เจ้าของร้านเล่าสาเหตุ ทำร้านเพ็ทช็อปเจ๊ง เกิดจากอะไร? บทเรียนชั้นดีแม้ธุรกิจกำลังบูม

คุณ สมาชิกหมายเลข 3916959 สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ได้ออกมาบอกเล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการทำร้านเพ็ทช็อป ที่แม้ว่าจะได้ทำเลดี ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า แต่แล้วตัวเขาก็เสียเงินและขาดทุนไม่เป็นท่า นำมาซึ่งการปิดกิจการ พร้อมร่วมวิเคราะห์ความผิดพลาด ให้กับผู้ที่อยากกระโดดเข้ามาเปิดร้าน..

จับธุรกิจร้านเพ็ทช็อป เผยทุกทริกของธุรกิจกำลังบูม สู้กับเจ้าใหญ่ยาก สมรภูมิราคาหั่นกันสะบั้น บางครั้งแบรนด์ยังลงมาทำเอง

เจ้าของกระทู้ เผยว่า เขาเองเห็นโอกาสการเติบโตของร้านเพ็ทช็อป อุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโต คนแก่ลงเรื่อย ๆ และหลายคนเลี้ยงหมาแมวเป็นเพื่อน เขาอยู่ในช่วงตกงาน และมีร้านของทีบ้านพอดี ทำให้ไม่เสียค่าเช่า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมเพ็ทช็อปเป็นสินค้าแบบซื้อมาขายไป คนที่ทำธุรกิจนี้แล้วรุ่ง เขาก็ไม่ได้มาเล่าทุกมุม ซึ่งตนจะมาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้กับคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจนี้

ฝั่งคนซื้อ

ร้านเพ็ทช็อปสามารถรับสินค้ามาได้จาก 2 แหล่ง คือ บริษัท และร้านค้าส่ง ซึ่งถ้าสั่งจากบริษัท บริษัทก็จะมีข้อกำหนดเรื่องยอด หากซื้อเยอะก็ลดเยอะ ซื้อน้อยก็ลดน้อย ต้นทุนสินค้าก็ขยับตามยอดที่สั่ง หากได้ต้นทุนสินค้ามาสูงแล้ว จะขายก็ยากมาก

ดังนั้นหากต้องการส่วนลดเยอะ แต่ยอดน้อย ก็ต้องหันไปซื้อที่ร้านที่ขายส่ง เพราะร้านขายส่งจะสั่งสต็อกมาเยอะ บางร้านได้ส่วนลดพิเศษสูงถึง 20% สมมุติว่าสั่งจากบริษัทโดยตรง 20 ลัง ราคาต่อลังอาจจะ 100 บาท แต่หากสั่งจากร้านขายส่ง ราคาต่อลังอาจจะเหลือ 90 บาท

ซึ่งราคาที่ได้ลดของร้านขายส่งนั้น อาจจะเกิดจากการที่ได้ส่วนลดประมาณหนึ่ง แต่ได้ของแถมมาอีก แล้วร้านขายส่งก็เอาของแถมมาขายต่อ หรือหากร้านขายส่งขายของได้ถึงเป้า ก็จะมี Incentives ให้เพิ่ม ซึ่ง Incentives ที่ว่าอาจจะเป็นได้ทั้งเงินหรือสินค้า ร้านก็จะเอา Incentives มากดราคาลงเพื่อให้ได้ยอด เป็นการยอมขายขาดทุนตอนนี้ เพื่อไปเอากำไรเมื่อยอดถึงเป้า คล้ายกับเซลส์ที่ยอมลดค่าคอมมิชชั่นของตัวเองเพื่อทำให้ยอดถึงเป้าและไปเอากำไรตรงนั้นมาแทน

ฝั่งคนขาย

การขายสมัยนี้ ทำได้ 2 ทางคือ ขายหน้าร้าน และขายออนไลน์

หากคิดจะขายหน้าร้าน ต้องอย่าลืมสำรวจตลาดว่ามีเจ้าตลาดอยู่ไหม และเจ้าตลาดส่วนใหญ่ก็มักเป็นร้านขายส่ง สมมุติว่าร้านขายส่งขายสินค้าให้ตนไปขายต่อในราคา 90 บาท และร้านขายส่งขายปลีกเองในราคา 100 บาท ก็เท่ากับว่า ตนไม่สามารถตั้งราคาเกิน 100 บาทให้แพงกว่าร้านขายส่งได้อีกแล้ว

เมื่อลูกค้ามาซื้อของ ก็มักจะซื้ออาหารหมา อาหารแมวยี่ห้อเดิม ๆ และมองราคาเป็นตัวเปรียบเทียบ ถ้าขายมากกว่าแพงกว่าร้านที่เขาซื้อประจำ เขาก็แค่เดินออกจากร้านไปซื้อร้านใหม่ แต่ถ้าขายในราคาเท่ากับเจ้าตลาด กำไรก็น้อย ก็จะไม่พอค่าใช้จ่าย และหากร้านขายส่งตัดราคามาอีก ก็ยิ่งอยู่ไม่ได้

หากเปลี่ยนไปขายออนไลน์ สมรภูมิยิ่งดุเดือดกว่าเดิม เพราะร้านค้าออนไลน์นอกจากตัดราคากันเองแล้ว บริษัทลงมาขายเองก็มี ยิ่งตัดราคากันมากกว่าเดิม ร้านค้าส่งก็ต้องสู้กับแบรนด์ และร้านเล็กของตนก็ต้องไปสู้กับร้านค้าส่ง แบบนี้จะสู้อย่างไร เพราะสินค้าในออนไลน์เหมือนกัน ต่างกันที่ราคา และตัดราคากันสะบั้นหั่นแหลก

กำไรน้อย ทุนจมจากปัจจัยหลายอย่าง ต้องปิดกิจการ แพ้ให้กับปลาใหญ่กินปลาเล็ก

จากนั้น เมื่อยอดขายไม่ดี ก็โดนโหมอีกทีเพราะสินค้าหมดอายุ และบางทีก็เจอหนูกัดถุงอาหารขาด บางถุงหลายร้อยบาท และหนูก็จะกัดถุงและหาถุงใหม่กินไปเรื่อย ๆ ไม่กินถุงเก่าที่เคยกัดขาดแล้ว เมื่อใช้กรงดักหนูก็ดักได้แค่ 1 เดือนแรก หลังจากนั้นหนูก็ไม่วิ่งเข้ากรง ใช้กาวดักหนูก็กลายเป็นว่าหนูติดกาว แต่กาวไม่แน่น หนูก็วิ่งย่ำกาวแทน ตนเลยจัดการวางยาเบื่อหนู คราวนี้ได้ผล หนูหายไปเดือนกว่า แต่กลายเป็นมีหนูแก๊งใหม่มาแทน ทำให้ยิ่งขาดทุนเพิ่ม ทั้งจากอาหารหมดอายุ และโดนหนูกัดถุงอาหารอีก

สุดท้าย เขาต้องยอมปิดร้านอาหารลงไป เพราะแพ้ทุกทาง รับสินค้ามาขายแพงกว่าคนอื่น เจอเจ้าตลาดกดราคา กำไรก็น้อย และขาดทุนสะสม

“ใครอ่านมาถึงตรงนี้ ผมอยากเตือนนะครับ สำหรับคนที่คิดจะทำ Pet Shop ให้คิดเยอะ ๆ คิดซ้ำ ๆ ส่วนหนึ่งที่คุณจะไม่รู้เลยคือราคาส่ง เพราะถ้าคุณไม่ได้เปิดร้าน ไม่มีใครเขาบอกราคาส่งให้คุณรู้หรอกครับ เช่นแบรนด์ต่าง ๆ เขาจะขอใบจดทะเบียนการค้า ก่อนที่เขาจะส่ง contact เซลส์มาให้คุณติดต่อ ดังนั้นก่อนมาทำตรงนี้ ผมเองก็ไม่รู้ครับ ว่าในส่วนของต้นทุนสินค้า มันจะโหดจน margin ต่ำขนาดนี้

ส่วนใครที่ยังทำอยู่และยืนระยะได้ ยินดีด้วยครับ คุณเก่งมาก”

คนแห่ให้กำลังใจ นี่คือประสบการณ์ชั้นเลิศ พร้อมร่วมกันวิเคราะห์ ทำไมถึงเจ๊ง?

อย่างไรก็ตาม ได้มีคนเข้ามาช่วยวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เจ๊งว่า

– เรื่องหนูเป็นเพราะสโตร์ไม่ดี สถานที่จัดเก็บแย่ ต้องจัดให้เข้า-ออกทางเดียว ประตูสองชั้น กันเรื่องความชื้นและข้างในต้องปิดสนิท มีแค่พัดลมระบายอากาศกับซี่กรงเหล็ก บ้างก็บอกว่าเจ้าของร้านต้องเลี้ยงแมวไว้ เพื่อเอามาใช้ไล่หนู และเอาแมวมาใช้เรียกลูกค้า ลูกค้าหลายคนชื่นชอบความน่ารักของแมวก็มาซื้อซ้ำ รวมถึงถุงอาหารที่หนูกัดขาด สามารถแบ่งขายเป็นกิโลได้

– ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไร ต้องวิจัย สำรวจ วิเคราะห์ด้วยตัวเอง สำรวจโดยรอบว่าพื้นที่ตรงนั้นมีขายอะไรบ้าง คนทำงานประเภทไหนในชุมชนหรือหมู้บ้าน

– ห้ามเช่าที่ราคาแพง ทำเลต้องดี

– ทุนต้องหนา ห้ามมีหนี้เยอะ

– ต้องบริหารสต็อกให้เป็น สั่งของมาเยอะ แต่ต้องรู้ว่า อาหารแมว อาหารหมาหมดอายุแล้วจะกลายเป็นทุนจม

– ต้องเข้าใจกลยุทธ์ของฝั่งคนขายด้วย เช่น บางบริษัทเน้นส่วนลดส่งเสริมการขายให้คนขายปลีก
บางบริษัทเน้นทำเป้าให้สูง จนยอมขายราคาถูกกว่าหน้าใบสั่งซื้อเพื่อรับส่วนลดส่งเสริมการขาย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นก้อนเดียว เมื่อหักลบขาดทุนกับราคาจากหน้าตั๋วแล้วจะยังคงเหลือกำไร ดังนั้น การลงทุนอะไร ถ้าเงินไม่หนาพอ ก็ต้องกำหนดลำดับชั้นตัวเองให้ว่าลงทุนได้ขนาดไหน ตลาดไหนเหมาะกับตัวเอง ตลาดไหนควรอยู่แค่ไหน กว้าง แคบแค่ไหน เพราะล้มในกระดาษร้อยครั้ง ไม่เหมือนกับล้มในชีวิตจริงแค่ครั้งเดียว

– ต้องเข้าใจธุรกิจซื้อมาขายไป สมัยก่อนช่องทางการขายน้อย กำไรดี คนขายไม่แย่งกันมาก แต่สมัยนี้แค่หาข้อมูลราคาในมือถือก็รู้หมดแล้วว่าอันไหนถูก อันไหนแพง จะสู้กับรายใหญ่อาจจะยาก ธุรกิจแบบนี้คนที่อยู่ได้มีแค่ 3 แบบ คือ 1. รายใหญ่มาก ซื้อมาได้ทุนราคาถูก และขายได้ราคาถูก 2. ทำเลดีมากไม่มีคู่แข่งเลย 3. มีการเพิ่มมูลค่าเข้าไป เช่น เป็นคลินิกรักษาสัตว์แล้วสัตวแพทย์แนะนำอาหารแบบนี้ว่าดีกว่า, เสริมบริการอาบน้ำตัดขนหมาแมว

ท้ายที่สุด เจ้าของกระทู้ได้มาบอกว่า ในส่วนเงินลงทุนที่เขาลงไปนั้นมี ชั้นวางของ 150,000 บาท และสินค้าที่ลงล็อตแรก 200,000 บาท ซึ่งในงบเท่านี้สามารถซื้อ ถ้วยและชามใส่อาหาร ของเล่นแมว แชมพูอาบน้ำสัตว์ และสินค้าจิปาถะอื่น ๆ คาดว่าประมาณ 30-40 รายการครับ ส่วนอาหารเม็ดจะมีแค่ของหมาและแมว หมามี 3 ยี่ห้อ แมวมี 7 ยี่ห้อ เน้นแบรนด์เด่น ๆ ในตลาด ที่ขายดีหน้าร้านจะเป็นยี่ห้อวิสกัส ที่ขายดีออนไลน์จะเป็นฟริสกี้ส์ วิสกัส และมีโอ และอาหารเปียกอีก 6 แบรนด์

โดยรวมแล้ว ตนสั่งล็อตแรก ไม่ลงทุนไม่เยอะให้เจ็บตัวถ้าพลาด ถ้ามีทุนค่อยขยายเพิ่ม และถ้าอันไหนขายดีก็สั่งมาให้ บางอันก็หมดอายุ พอขายไปได้สักพักก็เพิ่มความหลากหลายของสินค้า เช่นเอาอาหาร 10 กิโลกรัมเข้ามาขาย แต่ปัญหาคือเจอหนูกัดถุง และเสียหายเยอะ

ส่วนตอนที่ปิดกิจการ ตัวเลขที่ขาดทุนประมาณ 40,000 บาท เพราะว่าสินค้าต่าง ๆ เอามาลดราคา ลดต่ำกว่าทุน ขายเอาทุนคืนครับ เลยไม่เจ็บมาก.

cr:https://www.google.com/..8%B2%E0%B8%99&tbm=isch&so..

วิธีรวยกับตึกแถว