โป๊ะเช๊ะ ดอท คอม

ประวัติวันสงกรานต์ 2567ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี แต่ละวันคือวันอะไร? & เพลงรำวงสงกรานต์ – ยาว 1 ชั่วโมง

ประวัติวันสงกรานต์ 2567..ทำไมวันขึ้นปีใหม่ไทย ต้องเป็นวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี แต่ละวันคือวันอะไร?

เดือนเมษายน ของทุกปีเป็นที่รู้จักกันแล้วว่าเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันขึ้นปีใหม่ไทย ที่หลายคนตั้งตารอคอยที่จะได้พบปะสังสรรค์กับครอบครัว พร้อมที่จะเล่นน้ำสงกรานต์ 2567 เฉลิมฉลองสนุกสนาน ทำบุญตักบาตร สวดมนต์ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ สรงน้ำพระ แห่รถบุปผชาติ ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทย ..

โดยสงกรานต์ 2567 มีวันหยุดทั้งหมด 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-16 เมษายน 2567 เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่

วันหยุดเดือนเมษายน 2567 วันหยุดสงกรานต์ 2567

  • วันศุกร์ ที่ 12 เมษายน 2567 วันหยุดราชการเพิ่มเติม เป็นกรณีพิเศษ
  • วันเสาร์ ที่ 13 เมษายน 2567 วันสงกรานต์
  • วันอาทิตย์ ที่ 14 เมษายน 2567 วันสงกรานต์ (วันครอบครัว)
  • วันจันทร์ ที่ 15 เมษายน 2567 วันสงกรานต์
  • วันอังคาร ที่ 16 เมษายน 2567 วันหยุดชดเชยวันสงกรานต์

เปิดประวัติวันสงกรานต์ 2567 ทำไมวันขึ้นปีใหม่ไทย ต้องเป็นวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี

วันสงกรานต์ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี

คำว่า “สงกรานต์” มาจากภาษาสันสกฤต แปลว่า การเคลื่อนที่ หรือการ เคลื่อนย้าย หมายถึงการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์จากราศีหนึ่งสู่อีกราศีหนึ่ง คือวันขึ้นปีใหม่นั่นเองตามความหมายในภาษาสันสกฤตสงกรานต์จึงเกิดขึ้นทุกเดือน

ส่วนระยะเวลาที่คนไทยเรียก “สงกรานต์” นั้น เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เคลื่อนย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ นับว่าเป็นมหาสงกรานต์ เพราะเป็นวันและเวลาตั้งต้นปีใหม่ตามสรุยคติ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ คือ วันที่ 13-14-15 เมษายน

  • โดยเรียกวันที่ 13 เมษายน ว่าวันมหาสงกรานต์
  • วันที่ 14 เมษายน เป็นวันเนา
  • วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศก
สมัยก่อนถือวันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ตรงกับช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหาร คนสมัยโบราณจึงคิดทำกิจกรรมเพื่อเป็นการพักผ่อนหลังจากทำงาน และเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้พบกันและเล่นสาดน้ำกัน เพื่อคลายความร้อนในเดือนเมษายน

ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พิธีสงกรานต์นั้นเป็นเทศกาลสงกรานต์ ในพิธีสงกรานต์จะใช้ น้ำ เป็นสัญลักษณ์ที่เป็นองค์ประกอบหลักของพิธี แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ

ในวันนี้จะใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ มีการรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ..

ต่อมาในสังคมไทยสมัยใหม่เกิดเป็นประเพณีกลับบ้านในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นับว่าวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว อีกทั้งยังมีประเพณีที่สืบทอดมาตั้งแต่ดั้งเดิม อย่าง การสรงน้ำพระที่นำมาซึ่งความเป็นสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข

การสรงน้ำพระ การรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ การเล่นสาดน้ำในคนรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือเยาว์กว่า เป็นความงดงามของประเพณี

 ช่วงวันสงกรานต์มีวันสำคัญต่างๆดังนี้

วันที่ 13 เมษายน เป็นวันผู้สูงอายุ

เริ่มมีขึ้นในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีวันนี้ขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่บุพการี ผู้อาวุโส หรือผู้ใหญ่ในชุมชนที่เคยทำคุณประโยชน์แก่สังคม

วันที่ 14 เมษายน เป็นวันครอบครัว

มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ตระหนักถึงคุณค่าของสถาบันครอบครัว และใช้เวลาว่างในวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้าและทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน เป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวและสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว

วันที่ 15 เมษายน เป็นวันเถลิงศกหรือวันเปลี่ยนศักราชใหม่

แต่หากดูตามการคำนวณวัน-เวลาแบบเป๊ะๆ ตามปฏิทินทางจันทรคติในตำราโบราณ (ซึ่งจะทำการคำนวณใหม่ทุกๆ ปี) ปรากฏว่า สงกรานต์ปีนี้ วันเถลิงศกตรงกับวันที่ 16 เมษายน 2566 ณ เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที ซึ่งถือเป็นวันเปลี่ยนศักราชใหม่นั่นเอง

ตำนานนางสงกรานต์ประจำวันมีที่มาจากไหน?

โดยตำนานเกี่ยวกับนางสงกรานต์นั้น ได้มีปรากฏในศิลาจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือ วัดโพธิ์ ท่าเตียน โดยย่อว่า เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ

เมื่อวันสงกรานต์ตรงกับวันใดในแต่ละปี ก็จะมีนางสงกรานต์ประจำวันนั้นๆ

สงกรานต์ 2567 ตรงกับวันเสาร์นางสงกรานต์ชื่อ “มโหทรเทวี”

มโหทรเทวี เป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

ที่มาของนางสงกรานต์

ธรรมบาลกุมาร เป็นเทพบุตรที่พระอินทร์ประทานให้ลงไปเกิดในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อโตขึ้นก็ได้เรียนรู้ภาษานก และเรียนไตรเภทจบเมื่ออายุได้เพียง 7 ขวบ จึงได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย

จนวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้ลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ โดยถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรบูชา แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสียเอง โดยธรรมบาลกุมารได้ขอตอบคำถามใน 7 วัน

เมื่อถึงเวลา ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ ธรรมบาลกุมารจึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม ทำให้ท้าวกบิลพรหมแพ้ในการตอบคำถามครั้งนี้

และก่อนจะตัดเศียร ท้าวกบิลพรหม ได้เรียก ธิดาทั้ง 7 องค์ ซึ่งเป็นนางฟ้า ให้เอาพานมารองรับ เนื่องจากเศียรของท้าวกบิลพรหมเป็นที่รวมแห่งความไม่ดีทั้งปวง ถ้าวางไว้บนแผ่นดินไฟจะไหม้โลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศฝนจะแล้ง ถ้าทิ้งลงในมหาสมุทรน้ำจะแห้ง

ธิดาทั้ง 7 จึงมีหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันดูแลเศียรของท้าวกบิลพรหม และในทุกๆ ปี ก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบเขาพระสุเมรุ เป็นเวลา 60 นาที แล้วประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ จึงเป็นที่มาของ นางสงกรานต์ โดยแต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์นั่นเอง

อ้างอิง : นายประพนธ์ รอบรู้ นักวิชาการโสตทัศนศึกษาชำนาญการ หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี สำนักศิลปากรที่ 5 ปราจีนบุรี , หอสมุดแห่งชาติรัชมังคลาภิเษก จันทบุรี.
https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1122023
https://www.google.com/..1l8tlzM6pqmNucLTj_GZ..