เกษตร » สูตรปุ๋ยและการใช้สารกระตุ้น แก้“ปาล์มขาดคอ”..ลองดู ดีกว่าฟันทิ้ง

สูตรปุ๋ยและการใช้สารกระตุ้น แก้“ปาล์มขาดคอ”..ลองดู ดีกว่าฟันทิ้ง

13 ตุลาคม 2017
3066   0

..ภายหลังภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์แผนพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (ปี 2551-2555) ขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการใช้ในการอุปโภคและด้านพลังงานทดแทน  ส่งผลให้ปัจจุบันพื้นที่หลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนหันมาปลูกพืชดังกล่าวกันมากขึ้น และ นายประสิทธิ์ ศรีเพชรพูล เกษตรกรชาวศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในจำนวนนี้

นายประสิทธิ์ เล่าให้ฟังว่า การทำสวนปาล์มน้ำมันหลายคนอาจมองว่าเป็นอาชีพที่ไม่ยุ่งยาก แต่จริงแล้วปัญหาค่อนข้างมากมายหากการจัดการไม่ดีพอ ทั้งในด้านผลผลิตที่ปัจจุบันเกษตรกรไทยยังคงทำได้ในเกณฑ์ที่ต่ำ ซึ่งปัจจุบันเฉลี่ยที่ 3.5 ตัน/ไร่/ปี หากมองให้ลึกจะพบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากในแต่ละปีซึ่งจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ปาล์มมีการติดลูก ทะลายน้อยกว่าปกติ..

โดยเฉพาะ “หน้าแล้ง” หรือที่เรียกกันว่า “ปาล์มขาดคอ” อันมีสาเหตุมาจากการติดทะลายที่เป็นดอกตัวผู้มากกว่าดอกตัวเมีย ทำให้ไม่ได้รับความคุ้มค่าเท่าที่ควร ยังไม่นับรวมถึง “ราคา” ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน แต่ละปีที่ตามมา แล้วยิ่งในปีที่ผ่านมาแถบพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ข้างเคียงประสบวิกฤติปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้เกิดความเสียหายในสวน

หลังน้ำลด จึงต้องเริ่มหันมาแก้ปัญหาโดยพยายามฟื้นฟูต้นปาล์ม ที่พอจะเริ่มเก็บผลผลิตในพื้นที่ 24 ไร่ ซึ่งปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ลูกผสมเทเนอร่า (DXP) จำนวน 528 ต้น อายุได้ 7 ปี ที่ต้องมาพบกับวิกฤติดังกล่าว เป็นผลให้ทะลายปาล์มเน่า ร่วงหมดทั้งต้นกันใหม่โดยการใส่ปุ๋ย สูตร 21-0-0 หรือไม่ก็สูตรเสมอ หรือบางทีก็ 13-13-21 บางทีก็สูตรเสมอ + 0-0-60 ขึ้นอยู่กับสภาพของต้นในช่วงนั้นๆเป็นหลัก

โดยแบ่งใส่ 2 เดือน/ครั้ง แล้วพอถึงหน้าแล้งก็จะใส่ “โดโลไมท์” เพื่อปรับสภาพดินไป 1 ครั้ง ปริมาณ 200 กก./ไร่/ปี รวมถึงมีการให้น้ำในแปลงด้วย พอเริ่มเห็นเม็ดเงินรำไรก็มากระทบแล้งอีก เป็นผลทำให้ปาล์มส่วนใหญ่ติดช่อดอกตัวผู้มากกว่าตัวเมีย ดังนั้น จึงใช้สารกลุ่มฟีโนลิคคอมพาวด์หยอดที่คอปาล์ม 6 เดือน/ครั้ง ทิ้งช่วงระยะหนึ่งพบว่าเพียงไม่กี่วัน ใบเริ่มหนาปรุงอาหารได้ดี และมีดอกตัวเมียเกิด

ดังนั้น  เพื่อให้ทะลายปาล์มเปอร์เซ็นต์น้ำมันดี หลังทะลายเริ่มออกตัวเมียจึงใส่ปุ๋ยสูตร 10-5-24 การดูแลดังกล่าวประสิทธิ์บอกว่า การจัดการดังกล่าวช่วยให้ปาล์มทรงพุ่มเริ่มดีขึ้น ทางแบะออก โคนกาบไม่หนีบทะลายปาล์มเหมือนแต่ก่อน การเป็นดอกตัวเมียเริ่มมากขึ้น ติดทะลายชุดละ 2-3 ชั้นขึ้นไป ผลใหญ่ สมบูรณ์ไม่ลีบ จากการตัดปาล์มรอบล่าสุด ซึ่งจะตัดทุกๆ 17-18 วัน/ครั้ง ได้ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 19 กก./ทะลาย

นายโสรัฐ ทิพย์ดี เกษตรกรบ้านสินปุน บอกว่า  ปลูกปาล์มลูกผสม “สุราษฎร์ธานี” ซึ่งตลอดระยะเวลาจะดูแลใส่ปุ๋ยตามที่ไปอบรมมากับทางภาครัฐ จนกระทั่งต้นปาล์มอายุ 3 ปี กลับพบว่าทะลายส่วนใหญ่ที่ติดจะเป็นดอกตัวผู้ ที่ผ่านการแก้ปัญหาจะใส่ทั้งปุ๋ย “ยาฮอร์โมน” แต่ไม่ได้ผลนัก กระทั่งเห็นเพื่อนบ้านแก้ปัญหาด้วยการใช้สารเร่งที่มีตัวฟีโนลิคคอมพาวด์ประกอบ  ซึ่งหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วไป จึงลองใช้บ้าง  มาถึงตอนนี้ปาล์มส่วนใหญ่เริ่มติดทะลาย ผลใหญ่สม่ำเสมอ และที่เห็นชัดคือกาบอวบ กว้างทางเขียว สมบูรณ์ขึ้น

สำหรับเกษตรกรรายใดที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดกันได้ที่โทร. 08–6274– 2685,08–4852–7261 ในวันเวลาที่เหมาะสม.

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php