ยูทูป » เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย.. เพชรพระอุมา นิยายยาวที่สุดในโลก ของ พนมเทียน(1)

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย.. เพชรพระอุมา นิยายยาวที่สุดในโลก ของ พนมเทียน(1)

7 กรกฎาคม 2019
4996   0

เพชรพระอุมา เป็น นวนิยายแนวผจญภัยที่มีขนาดความยาวมากที่สุดในประเทศไทยและนับว่าเป็น นวนิยายที่มีความยาวมากที่สุดในโลก?

ใช้ระยะเวลาในการประพันธ์ยาวนานกว่า 25 ปี โดยพนมเทียนเริ่มต้นการประพันธ์เพชรพระอุมาในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2507 และสิ้นสุดเนื้อเรื่องทั้งหมดในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2535 รวมระยะเวลาในการประพันธ์ทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน กับ 2 วัน..

บทประพันธ์โดย พนมเทียน ซึ่งเป็นนามปากกาของ นายฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ และตีพิมพ์ต่อเนื่องในหนังสือพิมพ์รายวัน?

เพชรพระอุมา ถูกนำมาตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มซ้ำใหม่หลาย ๆ ครั้งในรูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊ค จำนวน 48 เล่ม โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ลิขสิทธิ์โดยพนมเทียน (เดิมเป็นชนิดปกแข็งจำนวน 53 เล่ม แต่ละเล่มมีความหนาประมาณ 33 ยก หรือ 16 หน้ายก และเมื่อนำมารวมกันทั้งหมดจะมีความหนาประมาณ 1,749 ยก แบ่งเป็นสามภาคได้แก่ ภาคแรก จำนวน 24 เล่ม ภาคสอง จำนวน 15 เล่ม และ ภาคสาม จำนวน 14 เล่ม แต่ปัจจุบันได้รวบรวมเนื้อหาในแต่ละภาคและลดลงคงเหลือเพียงแค่ 48 เล่ม)

แบ่งเป็นสองภาคคือ..

ภาคแรก จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน
ภาคสมบูรณ์ จำนวน 24 เล่ม 6 ตอน
ตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ.2538
ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2541
ทำการปรับปรุงต้นฉบับเดิมพร้อมกับตีพิมพ์ครั้งที่ 3 ในปีพ.ศ.2544
ตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2547

โดยเนื้อเรื่องต่าง ๆ ของเพชรพระอุมานั้น พนมเทียนได้นำเค้าโครงเรื่องมาจาก คิง โซโลมอน’ส มายน์ส (King Solomon’s Mines) หรือ สมบัติพระศุลี นวนิยายของเซอร์แฮนรี่ ไรเดอร์ แฮกการ์ด (H. Rider Haggard) ที่ผจญภัยในความลี้ลับของป่าดงดิบภายในทวีปแอฟริกา

จุดเริ่มต้นของ เพชรพระอุมา นวนิยายในตำนานที่มีความยาวมากที่สุดในโลก?

พนมเทียนเริ่มต้นการเขียนเพชรพระอุมาในปี พ.ศ.2507 โดยตกลงทำข้อสัญญากับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา (ซึ่งปัจจุบันสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยา ได้ยุติกิจการไปแล้ว) ในการเขียนนวนิยายแนวผจญภัยในป่าจำนวนหนึ่งเรื่อง โดยมีข้อกำหนดความยาวของนวนิยายเพียงแค่ 8 เล่มจบเท่านั้น แต่กลับได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทำให้ต้องเขียนเพชรพระอุมาเพิ่มเติมต่อจน ครบ 10 เล่ม และขอยุติการเขียนตามข้อสัญญาแต่ทางสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าพิทยายังไม่อนุญาตให้พนมเทียนยุติการเขียน และได้ขอร้องให้เขียนเพิ่มเติมต่ออีก 5 เล่ม แต่หลังจากเขียนเพิ่มได้ไม่นานก็ได้มีการตอบรับจากผู้อ่านมากมายจนต้องเขียนเพิ่ม จนเขียนมาหลายตอนแต่หาตอนลงจบเรื่องไม่ได้ ในที่สุดเรื่องราวทั้งหมดจึงสามารถจบลงได้ในปี พ.ศ.2533

ต้นแบบของโครงเรื่อง
พนมเทียนนำเอาความรู้ความชำนาญในการเดินป่า การดำรงชีวิตและการล่าสัตว์จากประสบการณ์จริงของตนเอง มาเป็นพื้นฐานในการเขียนนวนิยายเรื่องเพชรพระอุมา โดยเค้าโครงเรื่องและส่วนประกอบต่าง ๆ ได้นำมาจากเรื่องเล่าขานและสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากนักท่องไพรรุ่น อาวุโส หรือเรื่องเล่ารอบกองไฟของพรานพื้นเมืองต่าง ๆ

เพชรพระอุมาถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งโดยสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ปัจจุบันตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ลิขสิทธิ์โดยพนมเทียน แบ่งการตีพิมพ์เป็นสองครั้งด้วยกัน โดยตีพิมพ์ครั้งแรก 48 เล่ม ภาคแรกจำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ 24 เล่ม 5 ตอน ดังนี้

ภาคแรก

ตอน ไพรมหากาฬ จำนวน 4 เล่ม
ตอน ดงมรณะ จำนวน 4 เล่ม
ตอน จอมผีดิบมันตรัย จำนวน 4 เล่ม
ตอน อาถรรพณ์นิทรานคร จำนวน 4 เล่ม
ตอน ป่าโลกล้านปี จำนวน 4 เล่ม
ตอน แงซายจอมจักรา จำนวน 4 เล่ม

ภาคสมบูรณ์

ตอน จอมพราน จำนวน 4 เล่ม
ตอน ไอ้งาดำ จำนวน 5 เล่ม
ตอน นาคเทวี จำนวน 5 เล่ม
ตอน แต่ปางบรรพ์ จำนวน 5 เล่ม
ตอน มงกุฎไพร จำนวน 5 เล่ม

และตีพิมพ์ครั้งปัจจุบัน 48 เล่ม ภาคแรกจำนวน 24 เล่ม 6 ตอน และภาคสมบูรณ์ 24 เล่ม 6 ตอน ดังนี้

ภาคแรก

ตอน ไพรมหากาฬ จำนวน 4 เล่ม
ตอน ดงมรณะ จำนวน 4 เล่ม
ตอน จอมผีดิบมันตรัย จำนวน 4 เล่ม
ตอน อาถรรพ์นิทรานคร จำนวน 4 เล่ม
ตอน ป่าโลกล้านปี จำนวน 4 เล่ม
ตอน แงซายจอมจักรา จำนวน 4 เล่ม

ภาคสมบูรณ์

ตอน จอมพราน จำนวน 4 เล่ม
ตอน ไอ้งาดำ จำนวน 4 เล่ม
ตอน จิตรางคนางค์ จำนวน 4 เล่ม
ตอน นาคเทวี จำนวน 4 เล่ม
ตอน แต่ปางบรรพ์ จำนวน 4 เล่ม
ตอน มงกุฎไพร จำนวน 4 เล่ม

รพินทร์ ไพรวัลย์ มีตัวตนจริงหรือเปล่า ไปฟังจากปาก ” พนมเทียน “..

บ้านของ ‘พนมเทียน’ อยู่ที่พัฒนาการ คลองตัน ไม่ได้อยู่กลางไพร ‘หนองน้ำแห้ง’ อาณาจักรชายแดนอย่างที่แฟนๆ ‘เพชรพระอุมา’วาดจินตนาการ
อาณาจักรไพรแห่งนั้น เป็น ‘เรือน’ ของ รพินทร์ ไพรวัลย์ เขาต่างหาก

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนที่แล้ว เมื่อโลกนวนิยาย (ฉบับที่ 7) ลงบทสัมภาษณ์ ‘พนมเทียน’ ในส่วนของชีวิต และงานเขียนต่างๆ เว้นแต่เพชรพระอุมา ไปนั้น อาจกล่าวได้ว่านั่นคือ ‘ภาค 1’ ของนิยายชีวิตโลดโผน และสิ่งซึ่ง กำลังจะนำเสนอในโลกนวนิยาย ฉบับนี้คือ ‘ภาคสมบูรณ์’ ของความเป็น ‘พนมเทียน’ นั่นเอง
ในปี พ.ศ. 2539 พนมเทียน ย่างวัย 65 ปี, นิ้วของเขาแข็งพอที่จะจับปากกาเขียนหนังสือและลั่นไกปืนมาร่วม 50 ปีแล้ว
พนมเทียน เริ่มเขียน ‘เพชรพระอุมา’ ภาคแรก เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2507 และจบบรรทัดสุดท้ายของภาคสมบูรณ์ ในเวลา 02.45 น. ของวันที่ 21 มิถุนายน 2533 รวมเวลาทั้งสิ้น 25 ปี 7 เดือน 2 วัน!!
เป็นเวลาเกินกว่าครึ่งอายุการเขียน ของ ‘พนมเทียน’ ความผูกพันที่นักอ่านมีต่อนักเขียนท่านนี้มากมหาศาล โดยเฉพาะกับ ‘เพชรพระอุมา’ พนมเทียนมักจะถูกถามอยู่บ่อยๆว่า
-รพินทร์ ไพรวัลย์ มีตัวตนจริงหรือเปล่า
-มรว.ดาริน วราฤทธิ จริงๆแล้วเป็นใคร
-อะไรบ้างที่เป็น ‘ของจริง’ ใน ‘เพชรพระอุมา’
ฯลฯ

และบ่ายวันนั้น ที่บ้านพัฒนาการ เมื่อเทปสัมภาษณ์ถูกวางลงตรงหน้า คำถามแรกของ ‘โลกนวนิยาย’ ก็เริ่มขึ้น
“หนองน้ำแห้งมีจริงไหมครับ”
พนมเทียนมองหน้าผู้ถาม แล้วยิ้ม
“คุณอยากไปที่นั่นไหมล่ะ”
รถโฟร์วีลล์คันหนึ่งจอดสงบในโรงรถหน้าบ้าน พร้อมอยู่แล้วหากจะต้องบุกป่าฝ่าดง ทะเบียนรถคันดังกล่าว’ – 458 กทม. ‘
สามตัวท้ายคือเลขเดียวกับคาลิเบอร์ปืนไรเฟิล ที่ ‘รพินทร์ ไพรวัลย์’ ใช้เป็นประจำกาย
‘พนมเทียน’ พยักหน้าน้อย ๆ
“คุณอยากไปที่นั่นใช่ไหม”
เทปสัมภาษณ์ หมุนช้ากว่าจังหวะเต้นของหัวใจ


หนองน้ำแห้งมีจริงไหมครับ
มีจริงครับ แต่ของจริงเขาชื่อหนองแห้ง ฉากหลายๆ ฉากในเพชรพระอุมามีอยู่จริง แต่อยู่ที่โน่นบ้าง ที่นี่บ้าง ผมนำมาเรียงต่อกันโดยจินตนาการ

จริงไหมที่ว่า เดิมทีพนมเทียนตั้งใจจะเขียนเพชรพระอุมา เป็นนิยายสั้นๆ เท่านั้น
จริงครับ ผมไม่เคยคิดเขียนยาวขนาดนี้ คิดว่าจะเป็นพ็อกเก็ตบุ้คแบบเล่มละ 3 บาท สัก 7-8 เล่มจบ ตามที่ให้สัญญากับสำนักพิมพ์ผ่านฟ้าในตอนนั้น ทีนี้พอเขียนไปเขียนมา มันแตกลูกหลานเยอะ ชนิดที่จะเขียนซักประมาณ 2-3 พารากร๊าฟ มันก็กลายเป็นเขียนทั้งเล่มอย่างตอนที่ดารินนั่งห้างกับรพินทร์ครั้งแรก เขียนเข้าไป.. โอ้โฮ เล่มกว่าแล้ว(หัวเราะ) รายละเอียดมันมีมากครับว่าการนั่งห้างจะต้องทำอย่างไรบ้าง ผมก็บรรยายไปเรื่อย

อย่างตอนที่ผึ้งมันไต่เข้าไปในเสื้อดาริน
นั่นล่ะ (หัวเราะ) เรื่องนี้ก็จริง ทั้งหมดตอนต้นๆ เรื่องนี่จริงทั้งนั้น แล้วก็ประสบมากับตัวเองด้วย อย่างผึ้งนี่ ไม่ได้นะ เวลามันเข้าปั๊บ คุณต้องทำอย่างนี้เลย (แสดงท่าทางห่อไหล่) แล้วก็ค่อยๆ เขี่ยมันออก ถ้าไปตีมันปั๊บ มันต่อยพลั๊วะเลย

ประสบการณ์ในชีวิตจริงของพนมเทียน ไม่ทราบว่าการจับมือเข้าป่าครั้งแรกเป็นอย่างไร
ผมมีบ้านอยู่สายบุรี ปัตตานีนะครับ ตระกูลผมก็เคยทำเหมืองทองเหมืองโต๊ะโมะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่นราธิวาส ที่นั่นน่ะป่าทั้งนั้น ผมก็ขลุกอยู่กับพราน พวกพรานพื้นเมืองล่ะ อย่างตาบุญคำในเพชรพระอุมาก็มีตัวจริงนะ แกเป็นมุสลิม อยู่กับคุณตาผม ทะลึ่งที่หนึ่งเลย (หัวเราะ)
ผมจับปืนครั้งแรก อายุราว 14-15 ปี

กว่าจะยิงปืนแม่นใช้เวลานานไหม
ผมเป็นคนทำบาปขึ้นฮะ ยิงอะไรจะถูกเสมอ เขาเรียกว่าคนทำบาปขึ้นคือมีเคราะห์มากนะฮะ อย่างบางทีผมก็ยิงไม่ตั้งใจนะ ยิงสกัดหน้าสกัดหลัง ก็ยังไปถูกมัน เริ่มตั้งแต่สัตว์เล็กก่อน กระรอก กระแต นก ไล่ขึ้นไปเรื่อย มีสัตว์ชนิดเดียวที่ผมไม่ล่าคือช้าง เพราะเราตั้งสัตย์ปฏิญาณไว้ในใจว่า เขาเป็นสัตว์ใหญ่เหลือเกิน ถ้าหากว่าไม่ใช่ป้องกันชีวิตตัวเองหรือผู้อื่นที่ไปด้วยกันแล้ว จะไม่ยิงเป็นอันขาด

เข้าป่านี่มีความสุขมากไหม เข้าไปเพื่อพักผ่อนหรือล่าสัตว์มากกว่ากัน
เข้าป่าแต่ละครั้งผมถือว่า หนึ่ง ไปพักผ่อน สอง มันมีความรู้สึกว่า…ยังไงล่ะ…สนุกสนานในการจะฆ่า Enjoy Killing น่ะ คือ หมายความว่า กระทิงก็ดีหรือไอ้กวางก็ดี อะไรเงี๊ยะ มันผ่านเข้าทางปืนเราแล้วเรายิง เวลามันม้วนกลิ้งลงไปมันเป็นภาพซึ่ง…ซึ่งอธิบายไม่ถูก เวลามันวิ่งเอาหัวชนพื้นก่อนที่ตีลังกาสามสี่ทอด
แต่นี่คือความคิดของผมในยุคโน้นนะครับ ไม่ยุคนี้ ยุคนี้ผมทำไม่ได้เลย สงสารมัน
ความสุขในการเข้าป่ามีมากครับ ให้ความรู้สึกอิสระเสรีเหลือเกิน แล้วก็ได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่เราไม่เคยเห็นในเมือง ภาพน้ำ ลำธารใส ถ้ำซอกเล็กซอกน้อย หรือภาพเถาวัลย์ที่มันพันตัวเป็นวุ้งเวิ้ง อย่างเถาวัลย์เนี่ย ที่เราเคยเห็นกันเส้นขนาดนิ้วก้อยนี่ก็โตแล้ว แต่ที่ผมไปเห็น แต่ละเส้นขนาดขาอ่อนครับ ม้วนพันกันเป็นที่อาศัยของช้าง เข้าไปหลบซ่อนอยู่ในนั้น เขาเรียกว่าเถาวัลย์ หรืออย่างป่าหินอย่างนี้ ตลอดทาง 5 กิโล มีแต่หินรูปต่างๆ กับต้นไม้ต้นเล็กๆ

แถวไหนครับ ป่าหิน
มีอยู่ทั่วไปแหละครับ คือลองเป็นป่าลึกแล้ว มันจะต้องมีธารน้ำ มีป่าสูงดงดิบ ดินแฉะ ป่าโปร่ง แล้วก็ป่าหิน แล้วก็มีทั้งแบบที่เรียกว่า “มอ” กับ “มาบ” มอคือที่สูงขึ้นไป มาบคือป่าค่อนข้างราบต่ำ ป่าลุ่ม

เข้าป่าแต่ละครั้ง ต้องเตรียมตัวยังไงบ้าง
ต้องเตรียมแผน อย่างน้อยก็มีเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เกลือ ยารักษาโรค ปืนกระสุน อาหารก็พวกอาหารแห้ง ประเภทกินแล้วให้เกิดพลังงานขึ้นเป็นต้นว่าของหวาน คุณลองเข้าป่าสัก 3-4 วัน คุณจะรู้สึกว่าคุณขาดน้ำตาลเหลือเกิน ไอ้พวกถั่วตัด งาตัด นี่สำคัญมากที่สุด เอาไปเยอะๆ ฝากพวกพรานป่าบ้าง
พวกพรานป่า สมัยที่ผมยังเดินป่าอยู่นะฮะ เป็นคนตกสำรวจ คือหมู่บ้านของเขา เขาก็ตั้งชื่อขึ้นมาเอง ไม่มีอยู่ในสำมะโนประชากร จะเป็นจะตายอะไรก็จัดการกันเองหมด นานๆจึงจะเดินเท้าเปล่า ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง มาที่หมู่บ้าน มาซื้อของ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว สำรวจหมดแล้ว

พนมเทียนเข้าป่าไหนบ้าง
หลายป่า ส่วนใหญ่ก็แถบเมืองกาญจน์นี่ล่ะครับ หรือไม่ก็ทางปักษ์ใต้ แถบยะลาเข้าไปแต่ละครั้งก็สิบห้าวันบ้าง เดือนนึงบ้าง บางทีก็เอารถไป บางทีก็ไปรถไฟ อย่างแถวไทรโยค เมื่อก่อนเขาไม่ควบคุมอาวุธปืนเท่าไหร่ ปืนไรเฟิลนี่ห่อๆ รวมกันเข้า ถ้าหากการ์ดรถถาม ก็บอกว่าเครื่องมือรังวัด จะไปสำรวจรังวัดที่นั่งรถไฟไปลงที่ใกล้น้ำตกนะฮะ แล้วก็ข้ามเรือไปถ้าไปด้วยรถจิ๊ป ก็ฝากชาวบ้านไว้ แล้วก็เดินเท้าต่อหรือไม่ก็เกวียน

ไม่ใช้เครื่องบินบ้างหรือ
(หัวเราะ) จำข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่ได้ไหมล่ะ (พ.ศ.2515) เที่ยวนั้นเขาก็ชวนผมนะ แต่ผมเลิกเข้าป่าไปแล้วตั้งแต่ปี 2511

เคยหลงป่าไหม
เคยสิครับ หลงกับพรานเสียด้วย เรื่องเป็นอย่างนี้ วันนั้นผมไปกับเพื่อนแล้วก็มีพรานนำทางไปนั่งห้างกัน คราวนี้พอขากลับ เดินกันตั้งนาน ไม่ถึงแคมป์สักที ยิ่งเดินก็ยิ่งไกลผมเลยตัดสินใจสั่งหยุด หาที่นอนก่อน พอเช้าจึงค่อยดูทิศทางอีกครั้ง ไม่งั้นมีหวังข้ามเขาเป็นลูกๆ มันเป็นข้อเตือนใจว่า ป่าก็คือป่า เราประมาทไม่ได้เลย

มีบนบานศาลกล่าวอะไรไหมครับ
ผมบนหลวงพ่อทวด (หลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ ปัตตานี)

พนมเทียนเชื่อในสิ่งเร้นลับในป่า ประเภทนิทานข้างกองไฟที่เล่าสืบต่อกันมาหรือเรื่องเครื่องรางของขลังและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไหมครับ
สำหรับนิทานในป่านะครับ ผมเชื่อประมาณ 60% คือเชื่อกว่าครึ่ง เพราะมีหลายครั้งที่เผชิญกับตัวเองอย่างตอนที่หลงป่า ไม่รู้นกอะไร นกหรือสัตว์อะไรก็ไม่ทราบ มาร้องอยู่รอบๆทุกด้าน ร้องเป็นเสียงหัวเราะ ฮะ ฮ่า ฮ่า ฮะ ฮ่า ฮ่า บางทีก็ตาฝาด ถ้าเราคุมประสาทไม่อยู่ ก็ยิงส่งเดชหรือไม่ก็วิ่งไม่มีทิศทาง
สำหรับเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ ผมก็คล้องคออย่างตอนหลงป่านั่นแหละ แต่ตอนหลังมาคิดว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายไม่น่าจะช่วยเรา เพราะเราเข้าป่า เราก็ไปล่า ไปเอาชีวิตเขา แต่ตัวเรายังจะพึ่งพาความปลอดภัย หลังๆผมก็เลยอาราธนาไว้ที่บ้าน ไม่เอาไปเลย แต่ก็ยังเคยแสวงหาเครื่องรางของขลัง เป็นต้นว่าพวกเขี้ยวหมูป่าตัน ช้องหมู

พนมเทียนล่าสัตว์มานาน ทำไมจึงเลิกล่า
ผมสำนึกได้ มาสำนึกเมื่อตัวเองมีอายุ ผมยุติมา 27 ปีแล้ว
ปี 2511 ปีที่ลูกชายผมเกิด ผมเข้าป่าปีนั้นปีสุดท้าย รู้สึกว่าตัวเองจะเป็นโรคหัวใจ เริ่มหายใจไม่ออก เริ่มมึนศรีษะอย่างรุนแรง ตอนนั้นอายุผมย่าง 40 ตัดสินใจเด็ดขาด

ทุกวันนี้รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ยังมีการล่าสัตว์
สัตว์มีน้อยเต็มทีแล้ว ตอนนี้ผมก็อยู่ในกลุ่มต่อต้านการล่าด้วย ขออย่าทำมันเลย มันไม่มีประโยชน์หรอก เราอยู่ในบ้านในเมืองก็สบายดีอยู่แล้ว
ป่าก็เหมือนกันครับ ตอนนี้ โอ้โห…เสียดายมาก ไม่รู้จะทำอย่างไงครับ พูดแล้วก็เหมือนกับคนที่เคยทั่วๆไปนั่นแหละ สมัยหนุ่มๆนั่น ป่ายังเป็นป่าจริงๆ ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ มีแต่ไม้ตายซาก

จากประสบการณ์ตัวเอง ทำให้คิดเขียนเรื่องเพชรพระอุมาขึ้นมา
คืออย่างนี้นะฮะ ผมเกิดมาเป็นนักเขียนนักประพันธ์ เรื่องอะไรก็ต้องเขียนจะสังเกตได้ว่าผมเขียนเรื่องหลายประเภทแล้วผมก็เที่ยวป่าตั้งแต่เด็กกระทั่งหนุ่ม ปมก็คิดว่าสักวันหนึ่งผมจะต้องเขียนเรื่องป่าให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้ แต่ตอนที่คิดนั่น ยังไม่ลงมือเขียนเพราะตอนนั้น บรมครูซึ่งเป็นรุ่นอาผมยังมีชีวิตอยู่ คุณครูมาลัย ชูพินิจหรือ ‘เรียมเอง’ หรือ (‘น้อย อินทนนท์’ ผู้เขียน ‘ล่องไพร’) ผมก็คิดว่าอย่าไปเขียนแข่งกับท่าน ให้ท่านเล่นไปก่อน ในที่สุดท่านก็ล่วงลับไป เมื่อสบโอกาส ผมจึงเริ่มเขียนบ้าง

คิดนานไหมครับกว่าจะได้ชื่อว่า ‘เพชรพระอุมา’
ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับชื่อมากๆ นะครับ ทั้งในส่วนของความหมายและโทนเสียง อย่างเรื่องนี้ ผมวางเรื่องเป็นการตามหาขุมทรัพย์ ก็ไม่มีอะไรเหมาะสมกว่าเพชร

ทำไมจึงเป็นเพชรของพระอุมา ไม่เป็นเพชรพระศิวะ หรือพระนารายณ์
พระอุมาท่านเป็นผู้หญิงนี่คุณ (หัวเราะ) เหมาะกับเพชรที่สุดแล้ว


โทนเสียงคำว่า “รพินทร์ ไพรวัลย์” นี่อ่อนหวานมากเลยนะครับ
นั่นแหละที่ผมต้องการ บุคลิกของเขาเป็นอย่างนั้น ตัวของเขาเป็นอย่างนั้น ตัวของเขา เป็นพรานชำนาญป่า แต่มีความคิดลึกซึ้ง และมีความโรแมนติกแฝงในความกล้า ความแข็งกร้าว ภายใต้ ใบหน้าที่ผมใช้คำว่า “…กระด้างปานหินผา” ไม่ค่อยยิ้ม เป็นคนที่ผิดหวังกับชีวิต
รพินทร์เป็นคนที่ไม่อยากทำร้ายคนอื่น แม้แต่การฆ่าสัตว์ ก็ไม่ยิงทิ้งยิงขว้าง จะยิงเฉพาะเป็น อาหารหรือป้องกันชีวิตคนอื่น ผิดกับพวกเจ้านายที่ยิงกันคะนองมือจริงๆแล้ว

ผู้อ่านให้ความเห็นว่า บุคลิกส่วนหนึ่งของรพินทร์คือพนมเทียน
นิสัยใจคอต่างๆ ผมก็ใส่ลงไปในนั้น แบบเข้าข้างตัวเองนิดๆ ล่ะ มิหนำซ้ำยังกำหนดรพินทร์ ให้รูปร่างใกล้เคียงกับตัวเองอีก ตัวผมตอนนั้นค่อนข้างจะเล็กเพรียว ไม่อ้วนอย่างนี้

เมื่อก่อนนี้ พนมเทียนก็คือรพินทร์ ไพรวัลย์ ดีๆนี่เอง
ฮ่า….(หัวเราะ) ก็อย่างนั้นแหละครับ อาจจะเตี้ยกว่ารพินทร์ซักนิดนึงเพราะผมนี้ประมาณซัก 162 – 163 เซนติเมตร รพินทร์เขาอาจจะซัก 170 เซ็นต์ อะไรอย่างนี้


170 ก็ไม่เตี้ยเท่าไหร่
170 นี่ถ้าไปยืนเทียบกับผู้หญิงอย่าง…. อย่าง เมื่อรพินทร์ยืนอยู่กับคริสติน่าแล้วมันก็เท่ากัน (หัวเราะ) ผมก็ยืมคริสติน่าไปก่อน


ตัว ‘ดาริน’ ล่ะครับ มีตัวแบบสร้างขึ้นมาหรือเปล่า บางคนว่าเป็นบุคลิกของคุณเป๊กกี้ (สุมิตรา วิเศษสุวรรณภูมิภรรยาคุณพนมเทียน)
ไม่หรอกครับ ถ้าจะหาตัวแบบจริงๆ ผมว่ามาจากกลุ่มเพื่อนผู้หญิงมากกว่า ได้จากคนโน้นนิด คนนี้หน่อย แล้วเอามาสร้างใหม่ สร้างเป็นแพทย์หญิง เป็นนักมนุษย์วิทยา ตัวเองก็ไม่เคยเดินป่งเดินป่าอะไร โม้ใส่รพินทร์ไปงั้นเอง แต่ดารินเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง มองอะไรได้คม เห็นรพินทร์มาหมกตัวอยู่กลางป่า เอ…คนคนนี้ ทำไมเป็นอย่างนี้ การศึกษาระดับนี้ทำไมมาเก็บตัวอยู่ป่า


พนมเทียนเจตนาสร้างตัว ‘แงซาย’ ให้เก่งกว่ารพินทร์
เขาเก่งกว่ารพินทร์ในบางแง่ แต่บารมียังไม่ถึงครับ ที่ผมสร้างแงซายให้เด่น นั่นเป็นเทคนิกการเขียน นักประพันธ์ส่วนใหญ่ผมเข้าใจว่า ถ้าเป็นพระเอกแล้ว ต้องไม่มีใครมากิน เมื่อรพินทร์เก่งเป็นคนเด่นขนาดนี้แล้วเขาต้องมีจุดอ่อนบ้าง เป็นไข้มาเลเรียบ้างล่ะ หรือถ้าในแง่รูปหล่อ ก็จะต้องมีคนเหนือกว่า เพราะฉะนั้นตัวนี้จะมาเป็นตัวรองรับอารมณ์ ทำให้มันเด่นกว่า หล่อกว่าเสียหน่อย เรียกว่าศิลปะในการเขียน แงซายเขาเป็นคนเล่ห์ลึก แต่ถึงมีเล่ห์เขาก็น่ารัก

ความสำเร็จประการสำคัญของเพชรพระอุมา คือผู้อ่านเชื่อว่าตัวละครหลายคนในเรื่องนี้ มีตัวตนจริง หรือบางอย่างก็ทำให้คนต้องถกเถียงกันว่า มีจริงหรือไม่ อย่างภาษา “กุโบ๊ส” ที่พนมเทียนระบุว่า เป็นภาษาของชาวมรกตนคร
ภาษากุโบ๊สมีจริงนะครับ เป็นภาษาแรกๆ ของมนุษย์ด้วยซ้ำ ตามตำราว่าเป็นภาษาของผู้ที่ใช้ติดต่อกับเทพเจ้า น่าจะเป็นต้นกำเนิดของตัวอักษรเทวนาครี แต่ผมเองก็ไม่เคยเห็นหรือได้ยินใครพูดภาษานี้
ตัวพรานพื้นเมืองหลายๆคนก็มีตัวตนอยู่จริงครับ หนานไพรที่รพินทร์พูดถึงบ่อยๆ นั่นก็มีชีวิตจริง บุญคำ จัน เกิด เส่ย ก็มี
ไม่ใช่เฉพาะผู้อ่านมีความผูกพันกับผู้เขียน ผมเองก็ผูกพันกับผู้อ่านเรื่องนี้เป็นพิเศษ เป็นความผูกพันกับผู้อ่านเรื่องนี้เป็นพิเศษ เป็นความผูกพันกับผู้อ่านด้วยความขอบคุณ จริงอยู่ที่ผมเขียนเรื่องจากประสบการณ์และวิทยาการทุกศาสตร์ที่ผมมี แต่บางอย่างก็ยังมีผิดพลาด เวลาที่ผมเขียนไป อันไหนที่มันออกนอกลู่นอกทาง หรืออันไหนผิดหลักวิชาพอผิดปั๊บ จะมีผู้อ่านช่วยท้วงมาทันทีเลย..
บางอย่างผมเองก็ไม่รู้จะไปค้นที่ไหน อย่างงูที่มีเขี้ยวเฉพาะข้างบน 2 เขี้ยว ไม่ได้มี 4 เขี้ยวเหมือนหมา ผมเขียนไปว่า มันกัดแล้วมีรอยเขี้ยว 4 เขี้ยว เขาจดหมายมาบอกเลย
เพราะฉะนั้นผู้อ่านเพชรพระอุมาเปรียบเทียบเสมือนมิตรสนิทของผม ผมรักมาก บางคนนอกจากจะเป็นกำลังใจให้ ยังช่วยแต่งเพชรพระอุมาอีก คอยดูแลไม่ให้ผมพลาด แต่ละคนก็มีความรู้แตกต่างกันไป คนหนึ่งรู้การผ่าตัด อีกคนรู้เรื่องสัตว์ ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ผมคิดว่าที่เรื่องนี้มันค่อนข้างสมบูรณ์ได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะผู้อ่าน

แล้วหากผู้อ่านเรียกร้องให้เขียนต่อ
คงไม่มีแล้วล่ะครับ เรื่องราวก็จบสมบูรณ์ดีแล้ว เมื่อดารินไปตามรพินทร์กลับมาได้และแต่งงานกันที่มรกตนคร
กลับมาแล้ว เรื่องราวของทั้งสองก็เป็นไปตามที่ดารินฝันไว้ เธอบริจาคเงินจำนวนมหาศาลให้รัฐบาล ทำหนองน้ำแห้งเป็นเขตสงวนรักษาพันธ์สัตว์ป่า มีรพินทร์เป็นผู้ดูแลที่นั่น

เวลาที่เขียนนิยายเรื่องนี้ ยาวนานถึงยีสิบปี ตัวคุณพนมเทียนก็คงมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างทางความคิด ในระหว่างที่เขียน ตัวอย่างเช่นในภาคแรก เมื่อคุณให้ตัวละครพูดถึง “สางห่า” ดูเหมือนจะวาดภาพไปทางดุร้าย จะต้องรบกันเหมือนกับสงครามงูยักษ์หรือยิ่งกว่า แต่เมื่อถึงภาคหลัง เมื่อได้เจอสางห่าจริงๆ ตัวละครสามารถใช้ “ธรรมะ” เข้าเจรจา..
ใช่ครับ อย่างที่ผมเรียนว่า ผมเคยเป็นพราน แล้วก็เปลี่ยน เลิกล่าสัตว์ ศึกษาธรรมะ กรณีอย่างสางห่าก็เป็นอย่างที่คุณว่า คือพอเขียนไปแล้ว เป็นช่วงที่วิธีคิดของผมเปลี่ยนไปเหมือนกัน
มีจุดสรุปอย่างหนึ่ง ที่ผมได้จากการเขียนเรื่องนี้ เรียกว่า 3 ลักษณะ คือในตอนต้นนั้น เป็นศิลปะในการล่า เรื่องความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และการดำรงชีพในป่า พอเริ่มภาคหลัง ก็เป็นการเล่นกับคุณธรรม มโนธรรม ความอดกลั้น รวมทั้งด้านจิตวิทยา ส่วนตอนท้ายก็เป็นภาคที่ทำให้ผู้อ่านมาถึงจุดโล่งอกเสียที คือทุกคนสมใจปรารถนา ต่างคนเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ต้องพลัดพรากอีกแล้ว

ขอถามเรื่องปืนบ้าง สมัยที่พนมเทียนยังท่องป่า ชอบปืนขนาดไหนเป็นพิเศษ
ผมใช้ชนิดเดียวกับรพินทร์ครับ (หัวเราะ) คาลิเบอร์ .458 (คุณเป๊กกี้ซึ่งนั่งอยู่ด้วย เสริมว่า ชอบถึงขนาดไปขอทะเบียนรถหมายเลขนี้โดยเฉพาะ)

คำจำกัดความคำว่า ‘สุภาพบุรุษ’ ตามสายตาพนมเทียนล่ะครับ
สุภาพบุรุษคือคนที่ไม่หักหลังคน

‘ลูกผู้ชาย’ ล่ะครับ
ลูกผู้ชายจะต้องรู้จักการเสียสละ และกล้าหาญ

เจ้าของบทประพันธ์อันเป็นตำนานหนึ่งของโลก จบการให้สัมภาษณ์ด้วยประโยคสั้นๆ หากความหมายกว้างไกล
“เพชรพระอุมา” จบสมบูรณ์ลงตามความประสงค์ของผู้เขียนแล้วและแม้ว่าผู้เขียนจะยืนยันถึงความ “บริบูรณ์” ไม่มีเรื่องราวสืบเนื่องจากนี้อีกแล้ว แต่ก็ยังมีผู้อ่านบางคนรอความหวัง โดยเฉพาะเมื่อ “ตีความ” จากบทสนทนาของตัวละคร ในหน้า 1432 ของ “เพชรพระอุมา ภาคสมบูรณ์”

คือเมื่อ “จักราช-แงซาย” กล่าวกับนายทหาร “ไชยยันต์”

“นายทหารไชยยันต์ครับ ผมคิดว่าบุตรชายของท่านที่เพิ่งเกิด และเห็นหน้ากันเพียงแค่ไม่กี่วัน คงมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์ดี”
“สมบูรณ์ดีมาก พระเจ้าข้า”
“เขามีนามตามที่ท่านได้เจตนาจะตั้งชื่อไว้ก่อนหรือเปล่า คือถ้าเกิดมาเป็นชาย ก็น่าชื่อเหมือนสกุลพรานใหญ่ผู้นั้น”
“แน่นอนพระเจ้าข้า ข้าพระองค์ตั้งนามลูกไว้แล้วคือ ‘ไพรวัลย์’ และหวังว่าต่อไปคงจะเป็นนักร้องลูกทุ่งที่ชื่อดังก้องไปทั้งเมืองไทย”
จักราชสรวลเบาๆ
“เหลวไหล! ” ต่อไป เขาจะเป็นนักบินอวกาศไทย ที่บังคับยานอวกาศไปสำรวจดวงดาวทั่วจักรวาลต่างหาก และอาจจะได้มาเยี่ยมอาแงซายของเขาที่นี่ก็ได้ ”
…..
เห็นอย่างนี้แล้ว มีหวังต้องแหงนหน้าขึ้นฟ้า มองหา “เพชรพระอุมา” ภาค “จักรวาล” กระมัง?

ขอบคุณเนื้อหาจาก: โลกนวนิยาย รายสัปดาห์ ฉบับที่ 12 ประจำวันที่ 29 – 4 เมษายน 2539
https://teen.mthai.com/variety/65723
http://www.happyreading.in.th/article/detail.php?id=154
Ramet Tanawangsri
https://www.google.com/search?q=%E0%B8%9E%E0%B8%..
https://www.google.com/search?q=%E0%B8%A5%E0%B9%..