เลี้ยงสัตว์ » โรคปากและเท้าเปื่อย วัว-แพะ ใน จ.ตรัง ระบาดแล้วใน 3 อำเภอ พบสัตว์ป่วยกว่า 100 ตัว

โรคปากและเท้าเปื่อย วัว-แพะ ใน จ.ตรัง ระบาดแล้วใน 3 อำเภอ พบสัตว์ป่วยกว่า 100 ตัว

20 พฤศจิกายน 2020
1126   0

 

 

โรคปากและเท้าเปื่อย วัว-แพะ ใน จ.ตรัง ระบาดแล้วใน 3 อำเภอ พบสัตว์ป่วยกว่า 100 ตัว

ปศุสัตว์จังหวัดตรัง เร่งเข้าไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้แก่ โค กระบือ แพะ ในพื้นที่ หลังพบมีการระบาดแล้วใน 3 อำเภอ สัตว์ป่วยกว่า 100 ตัว

นายสุรจิต วิชชุวรรณ ปศุสัตว์จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์ของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ทุกจังหวัดเปิดให้สนามชนโคกลับมาชนได้ตามปกติ จึงทำให้มีสัตว์ป่วยบางตัวที่ยังไม่แสดงอาการเข้าสู่สนามชนโค เกิดการแพร่เชื้อไปสู่สัตว์ตัวอื่นที่ได้สัมผัสกัน จึงเป็นสาเหตุทำให้มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์ขึ้นในพื้นที่ อำเภอนาโยง อำเภอเมืองตรัง และอำเภอย่านตาขาว โดยจังหวัดตรังได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวในพื้นที่ 3 อำเภอแล้ว

“ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้เร่งเข้าไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้แก่ โค กระบือ แพะ ในพื้นที่เพื่อป้องกันเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์ รวมถึงทำการรักษาไปแล้วกว่า 100 ตัว และคงเหลือที่อยู่ในกระบวนการรักษาอีกกว่า 50 ตัว นอกจากนี้ ยังได้ควบคุมพื้นที่ สร้างภูมิคุ้มกันในพื้นที่ให้ครอบคลุมในรัศมี 5 กม. สัตว์เท้ากีบประมาณร้อยละ 90 ได้รับการฉีดวัคซีน โดยจังหวัดตรังมีสัตว์ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งจังหวัดประมาณ 70,000 ตัว ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังเกษตรกร เฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์ และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วย หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย” นายสุรจิต กล่าว.

 


เจ้าหน้าที่เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้แก่ โค กระบือ แพะ หลังพบการระบาดใน 3 อำเภอ คือ เมืองตรัง นาโยง และย่านตาขาว พร้อมมั่นใจสิ้นเดือน พ.ย.นี้จะควบคุมได้แน่นอน

เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ จ.ตรัง พร้อมด้วยอาสาสมัครปศุสัตว์ ต.คลองลุ อ.กันตัง พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทั้ง 7 หมู่บ้านของ ต.คลองลุ อ.กันตัง จ.ตรัง กระจายกำลังกันลงพื้นที่ เพื่อเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยให้แก่ โค กระบือ แพะ เพื่อป้องกันเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์ หลังพบมีการระบาดแล้วใน 3 อำเภอ คือ อ.นาโยง อ.เมือง และอ.ย่านตาขาว โดยมีสัตว์ป่วยที่ได้ทำการรักษาไปแล้วนับ 100 ตัว และคงเหลือที่อยู่ในกระบวนการรักษาอีกกว่า 50 ตัว จึงต้องเร่งควบคุมพื้นที่ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่กระจายของโรค

นายสุรจิต วิชชุสุวรรณ ปศุสัตว์ จ.ตรัง กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ทุกจังหวัดเปิดให้สนามชนโคกลับมาชนได้ตามปกติ ทำให้มีสัตว์ป่วยบางตัวที่ยังไม่แสดงอาการเข้าสู่สนามชนโค ทำให้มีการแพร่เชื้อไปสู่สัตว์ตัวอื่นที่ได้สัมผัสกัน จึงเป็นสาเหตุทำให้มีการระบาดขึ้นในบางพื้นที่ เช่น อ.นาโยง อ.เมือง และ อ.ย่านตาขาว ทั้งนี้ พบมีการระบาดใน อ.นาโยง เป็นพื้นที่แรกเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้นเจ้าหน้าที่เร่งเข้าไปควบคุมรักษาและควบคุมพื้นที่ ทำให้ไม่พบตัวป่วยเพิ่มแล้ว และสร้างภูมิคุ้มกันในพื้นที่ได้ครอบคลุมในรัศมี 5 กม. ส่งผลให้สัตว์เท้ากีบประมาณ 90% ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งเชื่อว่าใน อ.นาโยง จะไม่พบตัวป่วยเพิ่มอีกในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่มาเกิดใหม่ในพื้นที่ อ.เมือง พบตัวป่วยไม่ถึง 100 ตัว จึงเร่งรักษาตัวป่วยและฉีดวัคซีนป้องกัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ทั้งอำเภอ และพบต่อมาที่ อ.ย่านตาขาว ในพื้นที่ ต.ทุ่งค่าย และ ต.เกาะเปียะ

สำหรับ จ.ตรัง มีสัตว์ที่ต้องเฝ้าระวังโรคปากและเท้าเปื่อย ประมาณ 70,000-80,000 ตัว ดังนั้น สำนักงานปศุสัตว์ จ.ตรัง จึงได้เบิกวัคซีนป้องกันโรคมาจำนวน 60,000 โดส เพื่อเร่งแจกจ่ายให้ทั้ง 10 อำเภอ นำไปฉีดให้กับสัตว์ 54,000 โดส โดยเป้าหมายต้องฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์ครบ 90% ที่เหลือเก็บเอาไว้ให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตวเก็บเอาไว้ในกรณีพบโรคระบาด เพื่อเอาไปไว้ควบคุมไม่ให้โรคกระจาย ซึ่งเชื่อว่าสิ้นเดือนนี้น่าจะหยุดยั้งไม่ให้เกิดตัวป่วยใหม่ได้แน่นอน และไม่มีรายงานตัวเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม จ.ตรัง ได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดสัตว์ชั่วคราวในพื้นที่แล้วรวม 3 อำเภอคือ อ.นาโยง อ.เมือง และอ.ย่านตาขาว จึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนไปยังประชาชนเจ้าของสัตว์ เพราะโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับสัตว์ในช่วงหน้าฝนต้นหนาว และห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วย หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ส่วนเจ้าของสัตว์อื่นๆ ต้องระวังอย่าให้เข้าใกล้สัตว์ป่วย

ทั้งนี้ จ.ตรัง เคยประสบปัญหาการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยมาแล้วในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา สาเหตุมาจากเกษตรกรนำวัวชนไปฝึกซ้อมประลองฝีมือที่สนามชนโคในจังหวัดใกล้เคียงที่มีการระบาดและติดเชื้อเข้ามาในระบาด จ.ตรัง

ที่มา – https://108kaset.com/2020/11/20/fmd-goat-cow/