เตือนภัย » ซิโนแวค&ซิโนฟาร์ม เทียบประสิทธิภาพวัคซีนจีนที่ไทยพึ่งพา

ซิโนแวค&ซิโนฟาร์ม เทียบประสิทธิภาพวัคซีนจีนที่ไทยพึ่งพา

20 มิถุนายน 2021
1821   0

วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์ม (Sinopharm) จากประเทศจีน นับว่าเป็นวัคซีนทางเลือกชนิดล่าสุดที่มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ปัจจุบันมีวัคซีนสัญชาติจีนถึง 2 ชนิดที่องค์กรของรัฐจัดสรรให้แก่ประชาชน

ยังเป็นที่สงสัยกันว่าวัคซีนของซิโนฟาร์มมีความแตกต่าง หรือมีประสิทธิภาพเหนือชั้นกว่าวัคซีนของบริษัทซิโนแวค (Sinovac) ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์มากน้อยเพียงใดกันแน่?

เมื่อ ปลาย พ.ค.64 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อนุมัติให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นที่เรียบร้อย ในวันเดียวกันกับที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตั้งโต๊ะแถลง “แนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก ซิโนฟาร์ม” ซึ่งจะนำเข้ามาในไทย 1ล้านโดส ในเดือน มิ.ย.

ซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนโควิด-19 รายการที่ 5 ที่ได้รับอนุมัติจาก อย. โดยมีบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เป็นผู้ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนและจะเป็นผู้นำเข้า และถือเป็นวัคซีนสัญชาติจีนยี่ห้อที่ 2 ที่จะนำมาฉีดให้คนไทย นอกเหนือจากวัคซีนซิโนแวคที่กระจายอยู่ในปัจจุบัน

สองวัคซีนจากแดนมังกร

แม้ในประเทศจีนมีการพัฒนาวัคซีนโควิดถึงกว่า 16 ชนิด

ซิโนฟาร์มเป็นตัวหลักที่รัฐบาลจีนจัดสรรให้ประชากรส่วนใหญ่ภายในประเทศ โดยเครือรัฐวิสาหกิจแห่งชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (CNBG) เป็นผู้ผลิต

ซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน มุ่งผลิตวัคซีนเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศเป็นหลัก แต่ก็มีการจัดสรรวัคซีนของซิโนแวคบางส่วนเพื่อฉีดให้ชาวจีนไปแล้วราว 1 ใน 3 ของผู้รับวัคซีนในประเทศทั้งหมด..

..ด้านวัคซีนของซิโนแวคซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac) นั้น ปัจจุบันมีการอนุมัติวัคซีนนี้ใน 29 ประเทศ และมีการสั่งจองเพื่อนำไปใช้จาก 47 ประเทศ จัดเป็นวัคซีนโควิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเป็นอันดับ 6 ของโลก แม้จะเพิ่งผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทผู้ผลิตเลื่อนการเปิดเผยผลทดลองในระยะสุดท้ายแก่ผู้ตรวจสอบมาหลายครั้ง

การที่จีนส่งออกและบริจาควัคซีนทั้งสองชนิดให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาเป็นจำนวนหลายร้อยล้านโดส ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มพูนอิทธิพลจีนในต่างประเทศ ผ่านการมอบความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในยามวิกฤต ซึ่งจะเสริมสร้างให้จีนมี “อำนาจอ่อน” (soft power) เหนือประเทศเหล่านั้นเพิ่มขึ้น

เทคโนโลยีการผลิตและการเก็บรักษา

ทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมแบบเดียวกันกับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โปลิโอ และไวรัสตับอักเสบชนิดเอ

โดยเชื้อไวรัสโควิดที่อยู่ในเซลล์เพาะเลี้ยง (Vero cell) จะถูกทำให้หมดฤทธิ์หรือตาย จนไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนขึ้นมาได้อีก ก่อนจะฉีดเข้าไปในร่างกายมนุษย์โดยไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ ซากไวรัสเหล่านี้จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ตอบสนองและผลิตสารแอนติบอดีขึ้นมา เพื่อเตรียมพร้อมต่อสู้กับการติดเชื้อในอนาคต

วัคซีนเชื้อตายนี้สามารถผลิตได้ง่ายและมีความปลอดภัยสูง เนื่องจากมีการคิดค้นและใช้งานกันมายาวนานในประวัติศาสตร์ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับต่ำกว่า เมื่อเทียบกับวัคซีนที่ผลิตจากเทคโนโลยีอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม วัคซีนของซิโนแวคและซิโนฟาร์มมีข้อดีเรื่องการขนส่งและการเก็บรักษา เพราะสามารถเก็บไว้ได้ในอุณหภูมิปกติของตู้เย็นทั่วไปที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ต่างจากวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ตู้แช่ชนิดพิเศษเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิเย็นจัด -60 ถึง -80 องศาเซลเซียส

ข้อควรระวังและผลข้างเคียง

วัคซีนของซิโนฟาร์มนั้นไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุในการฉีด โดยผู้ที่มีวัย 18 ปีขึ้นไปทุกคนสามารถรับวัคซีนชนิดนี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า การทดสอบวัคซีนซิโนฟาร์มในระยะต่าง ๆ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อมุ่งศึกษาผลที่จะเกิดขึ้นกับคนอายุ 60 ปีขึ้นไป จึงยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของซิโนฟาร์มต่อกลุ่มผู้สูงวัย และทางองค์การองค์การอนามัยโลกเองมี “ความเชื่อมั่นในระดับต่ำ” ต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนซิโนฟาร์มในกรณีนี้

ส่วนวัคซีนของซิโนแวคนั้น เดิมกำหนดว่าควรฉีดให้ผู้มีอายุ 18-59 ปี แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคมทางการไทยอนุญาตให้ใช้กับกลุ่มคนชราอายุ 60 ขึ้นไปได้ โดยอ้างผลวิจัยชิ้นใหม่ของจีนว่า ซิโนแวคสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในหมู่ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ล่าสุดทางการจีนยังอนุมัติให้ขยายการใช้วัคซีนโควิดทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์มได้ ในกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุ 3-17 ปี อีกด้วย

การฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดจำเป็นต้องฉีดในปริมาณ 2 โดส โดยการฉีดของซิโนฟาร์มต้องเว้นระยะห่างระหว่างเข็มแรกและเข็มที่สอง 3-4 สัปดาห์ ส่วนซิโนแวคเว้นระยะห่าง 2-4 สัปดาห์

สำหรับรายงานกรณีการเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนนั้น ดูเหมือนว่าซิโนฟาร์มจะมีสถิติในเรื่องนี้น้อยกว่าซิโนแวคหลายเท่าตัว โดยในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขแถลงว่ามีผู้เสียชีวิตหลังได้รับวัคซีนโควิดแล้ว 68 ราย และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเกือบพันราย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวคที่มีอาการข้างเคียงคล้ายโรคหลอดเลือดสมองหลายราย แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ชี้ชัดไปว่าผู้เสียชีวิตนั้นเป็นเพราะวัคซีนโดยตรง..

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขไทยระบุด้วยว่า ผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงระดับรุนแรงหรือเสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค ยังมีไม่มากเท่ากับที่พบในกลุ่มผู้รับวัคซีนของแอสตราเซเนกา

ประสิทธิภาพในการทดลองต่างจากสถานการณ์จริง

หัวใจสำคัญของการเลือกฉีดวัคซีนโควิดนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการสร้างภูมิต้านทานเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์ใหม่ ๆ เป็นหลัก

แต่ที่ผ่านมามีความสับสนในการรายงานตัวเลขบ่งชี้ประสิทธิภาพของวัคซีนจีน ทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์ม ซึ่งมีความลักลั่นกันอย่างมากในระยะสุดท้ายของสนามทดลองในแต่ละประเทศ รวมทั้งเกิดข้อกังขากับประสิทธิภาพของวัคซีนในโลกแห่งความเป็นจริง (effectiveness) โดยดูจะห่างไกลจากตัวเลขที่ได้ในการทดลอง (efficacy) ซึ่งนำไปให้องค์การอนามัยโลกอนุมัติรับรองวัคซีนเมื่อไม่นานมานี้

ในกรณีของซิโนแวค การทดลองวัคซีนในฮ่องกงพบว่ามีประสิทธิภาพทั่วไปที่ 62% แต่การทดลองกับบุคลากรสาธารณสุขที่เสี่ยงติดเชื้อในบราซิล พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดอาการของโรคอย่างอ่อนที่เพียง 51% แม้ว่าจะสามารถป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการหนักที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 100% ก็ตาม ..

นอกจากการที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของจีนเองออกมายอมรับว่า วัคซีนซิโนแวคมีประสิทธิภาพต่ำและจำเป็นต้องปรับปรุงหรือให้ผู้รับวัคซีนฉีดเข็มที่ 3 เพิ่มแล้ว ในหลายประเทศที่ประชากรได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคอย่างแพร่หลายครบสองเข็มอย่างชิลี กลับพบการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงเดือนที่ผ่านมา

ล่าสุดที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย บุคลากรการแพทย์ที่รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มแล้ว ยังเกิดการติดเชื้อขึ้นอีกกว่า 350 ราย โดยในจำนวนนี้ป่วยหนักจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลายสิบราย ทำให้เกิดกระแสตื่นตระหนกว่าไม่อาจพึ่งพาการฉีดวัคซีนซิโนแวคเพื่อยับยั้งการระบาดได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะวัคซีนไร้ประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลตาหรือสายพันธุ์อินเดีย ที่คาดว่าเป็นสาเหตุของการระบาดระลอกใหม่

ส่วนที่คอสตาริกา ทางการได้ปฏิเสธไม่ขอรับวัคซีนซิโนแวคที่กำลังจะส่งมาถึงในขณะนี้ เพราะพิจารณาผลการทดลองระดับคลินิกแล้วเห็นว่ายังไม่มีประสิทธิภาพพอจะป้องกันโรคโควิด-19 ได้ มีเพียงประเทศอุรุกวัยเท่านั้นที่รายงานประสิทธิภาพของซิโนแวคในสถานการณ์จริงว่าสามารถป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้กว่า 90%

แม้ตัวเลขบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทดลองของซิโนฟาร์มจะสูงกว่าซิโนแวค โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 79% และมีประสิทธิภาพในการป้องกันอาการรุนแรงหรือการเสียชีวิต 100% เช่นเดียวกัน แต่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนเริ่มมีรายงานถึงข้อกังขาต่อประสิทธิภาพในสถานการณ์จริงของซิโนฟาร์มในหลายประเทศ ทั้งที่บาห์เรนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นประเทศผู้สนับสนุนวัคซีนซิโนฟาร์มรายใหญ่ รวมทั้งที่ชิลี อุรุกวัย และหมู่เกาะเซเชลส์ ซึ่งมีการฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มให้กับประชากรของตนในวงกว้าง

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานว่า ประเทศเหล่านี้ต่างพบกับการระบาดระลอกใหม่ที่ร้ายแรงตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นถึงวันละ 2-3 พันคน จนทางการต้องสั่งล็อกดาวน์และวางแผนนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าอย่างไฟเซอร์ มาฉีดเสริมภูมิคุ้มกันให้ประชาชนเป็นเข็มที่สามภายในเดือนนี้

“โลกต้องพึ่งพาซิโนฟาร์ม แม้ด้อยกว่าวัคซีน mRNA”

แม้จะดูเหมือนว่าศักยภาพในการเป็นวัคซีนทางเลือกหรือความหวังสำหรับวิกฤตสาธารณสุขไทยของซิโนฟาร์มและซิโนแวค แทบจะไม่ต่างกันมากนัก แต่ความเห็นของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยมองว่า วัคซีนของซิโนฟาร์มจะยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือกับโรคระบาดไปอีกอย่างน้อยใน 1-2 ปีข้างหน้า

ดร.ไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสในประเด็นทางสุขภาพระดับโลกจากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตันของสหราชอาณาจักร เขียนแสดงความเห็นในบทความซึ่งตีพิมพ์ในเว็บไซต์วิชาการ The Conversation โดยระบุว่าวัคซีนของซิโนฟาร์มนั้นมีประสิทธิภาพพอสมควร และยังสามารถใช้ป้องกันไวรัสสายพันธุ์เบตาที่มีกำเนิดจากแอฟริกาใต้ได้ผลอยู่

“เราไม่ควรมองว่าการระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของวัคซีนซิโนฟาร์ม แต่ควรพิจารณาว่ามันเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของวัคซีนชนิดนี้ ถึงอย่างไรก็ตาม มันก็ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและอัตราการแพร่เชื้อลงไปได้บ้าง” ดร. เฮด กล่าว

“ในขณะที่ความต้องการวัคซีนจากทั่วโลกมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่กำลังการผลิตที่ป้อนให้ไม่เพียงพอ ทั้งยังมีการกักตุนจากประเทศร่ำรวยอีก การที่ประเทศยากจนจะรอคอยเวลา เพื่อให้ได้ใช้แต่วัคซีนประสิทธิภาพสูงราคาแพงอย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาซึ่งใช้เทคโนโลยี mRNA นั้น ถือว่าเป็นไปไม่ได้และยิ่งจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง”

“ในภาวะเช่นนี้ จีนมีกำลังการผลิตวัคซีนที่สามารถจะป้อนให้กับประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากได้ โลกจึงจำเป็นต้องพึ่งพาวัคซีนของซิโนฟาร์มต่อไป แม้ประสิทธิภาพจะด้อยกว่าวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ก็ตาม”

ขอบคุณhttps://www.bbc.com/thai/thailand-57525497
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&..

วัคซีนซิโนแวค vs ซิโนฟาร์ม เหมือนและต่างกันอย่างไร?