เพลง » เพลงSutter’s Mill – การล้มตายของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเพราะคนอเมริกาแห่ไปขุดทองคำ

เพลงSutter’s Mill – การล้มตายของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเพราะคนอเมริกาแห่ไปขุดทองคำ

2 เมษายน 2023
531   0

[fbvideo
Sutter’s Mill – ทองคำที่นำมาซึ่งการสูญเสียของชนพื้นเมืองอินเดียนแดง
โดย ทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
………………………………………..
หนึ่งในบทเพลงคันทรีอมตะ ที่ถูกถ่ายทอด บอกเล่าเนื้อหา อันเป็นเสี้ยวประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของแผ่นดินอเมริกาได้อย่างสมบูรณ์ ไพเราะที่สุด คงหนีไม่พ้นบทเพลง ‘Sutter’s Mill’ ของ ‘Dan Fogelberg’ (แดน โฟเกลเบิร์ก)..

เนื้อหาเรื่องราวตำนานชีวิตของผู้คนและสถานที่ในบทเพลงนี้ ล้วนคือ ส่วนเสี้ยวหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุคแสวงหาของอเมริกาที่เกิดขึ้น และมีอยู่จริง สถานที่ในบทเพลงนี้ ที่เรียกว่า Sutter’s Mill ก็คือ โรงเลื่อย ของ นักบุกเบิกชาวอเมริกันในยุคศตวรรษที่ 19 ที่ชื่อ ‘John Sutter’ (จอห์น ซัทเทอร์) ผู้เป็นหุ้นส่วนร่วมธุรกิจกับ ‘James W. Marshall’ (เจมส์ ดับบลิว มาร์แชล) ซึ่งสถานที่นี้ตั้งอยู่บริเวณแถบแคลิฟอร์เนีย..
ปฐมเหตุ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ มาร์แชล ได้ค้นพบชิ้นทองคำเล็กๆ ในลำธารใกล้อาณาบริเวณโรงเลื่อย เมื่อวันที่ 24 มกราคม ปี 1848 แม้ว่าคนทั้งคู่จะพยายามเก็บกุมความลับของทองคำนี้ไว้อย่างสุดชีวิตก็ตาม แต่ข่าวการค้นพบทองคำครั้งนี้ก็ได้แพร่กระจายลุกลามไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งกลายเป็นข่าวใหญ่ตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์ซานฟรานซิสโก ผู้คนจึงหลั่งไหลมาแสวงโชคที่แคลิฟอร์เนีย..
ภายหลังจาก สงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพรัฐบาลฝ่ายเหนือกับกองทัพฝ่ายใต้ ระหว่างช่วงปี 1861 –1865 สิ้นสุดลง ผนวกเข้ากับสิ่งกระตุ้นเร้าของข่าวสารขุมทองคำในแผ่นดินฝั่งตะวันตก ภายในระยะเวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น มีผู้คนหลั่งไหลมายังแคลิฟอร์เนียเพื่อขุดค้นหาทองคำกันอย่างมืดฟ้ามัวดินเป็นจำนวนมากถึงสามแสนกว่าชีวิตที่ดั้นด้นมาทั้งทางบกและรอนแรมมาทางทะเลพร้อมกับอุปกรณ์ขุดร่อนทองในแม่น้ำ รวมไปถึงบุคคลอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งพ่อค้า นักการเงิน นักพนัน และนักแสวงโชค จนพลิกผันให้ แคลิฟอร์เนียที่เคยหลับใหลอย่างเงียบสงบและเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าอินเดียนแดง ซึ่งแทบไม่เคยมีคนผิวขาวเคยก้าวย่างสัมผัสมาก่อน ได้ถูกปลุกตื่นเพียงชั่วข้ามคืน
อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุการณ์ความสูญเสียที่ไม่มีในบทเพลง
ปี 1849 คือ ช่วงรุ่งโรจน์ของการตื่นทอง แต่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตื่นทอง คือ ชาวอินเดียนแดง หรือ ชนพื้นเมืองในอเมริกัน ที่เป็นกลุ่มคนดั้งเดิมซึ่งอาศัยอยู่ก่อน ชนเผ่าดั้งเดิมนี้ไม่ได้ประโยชน์อันใดเลยจากการตื่นทองนี้ มีอินเดียนแดงจำนวนนับแสนถูกขับไล่จากแคลิฟอร์เนียไปซานฟรานซิสโก โดยอาศัยกฎหมายที่ชื่อ รัฐบัญญัติ ว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐาน ของชาวอเมริกันอินเดียน (Indian Removal Act of 1830) ซึ่งให้อำนาจประธานาธิบดีในการเจรจาสนธิสัญญาที่จะแลกเปลี่ยนดินแดนของชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกันในรัฐทางตะวันออกกับดินแดนทางตะวันตกของแม่น้ำมิสซิสซิปปี้
ขณะที่การโยกย้ายตามทฤษฎีต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจ แต่ตามความเป็นจริงแล้วผู้นำอินเดียนเผ่าต่าง ๆ ยอมลงนามในสนธิสัญญาโยกย้ายถิ่นเนื่องจากถูกบีบบังคับ
ก่อนหน้านี้รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นพื้นที่ที่มีประชากรชนพื้นเมืองหนาแน่นที่สุด การตื่นทองส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของชาวพื้นเมือง การล่าสัตว์แบบดั้งเดิม และการทำเกษตรกรรม ที่ไม่สามารถทำได้ในรูปแบบเดิมอีกต่อไป ทำให้อินเดียนจำนวนมากต้องขาดแคลนอาหารและอดอยาก ระหว่างการขยายตัวของคนขาวที่รุกล้ำเข้าไปในชายแดนตะวันตกของรัฐแคลิฟอร์เนีย
รัฐบาลเองก็เห็นประโยชน์จากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำนี้ด้วย จึงเริ่มดำเนินการการกีดกันความเป็นเจ้าของทั้งพืชไร่ พืชผล และสิทธิเหนือที่ดินเพื่อกีดกันอินเดียนแดงออกไป การหลั่งไหลของคนขาวจำนวนมากมายที่เข้าไปในรัฐแคลิฟอร์เนียด้วยแรงจูงใจจากที่ดินและทองคำ คลื่นมวลชนของผู้มาใหม่ได้ถูกถาโถมเข้าไปในแคลิฟอร์เนีย เข้าไปในหุบเขาที่ห่างไกลที่สุดและเข้าไปในพื้นที่ของชนพื้นเมือง เพื่อหาทองคำ ตัดไม้ และครอบงำที่ดินของชนพื้นเมือง ซึ่งทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างคนขาวกับชนพื้นเมือง
การเผชิญหน้านี้ทำให้ชาวพื้นเมืองตกเป็นเหยื่อของโศกนาฏกรรม ด้วยความอดอยาก การเผชิญหน้าที่รุนแรงและการค้าแรงงานและค้าทาส ส่งผลเกือบกลายเป็นการล้างเผ่าพันธุ์ประชากรอินเดียนแดงแทบทั้งหมดในแคลิฟอร์เนีย ชนพื้นเมืองอินเดียนแดงมีจำนวนลดลงจาก 300,000 คน เหลือเพียง 160,00 คน
มีการจัดซื้อที่ดินและทรัพย์สิน สวม “สิทธิ” ของคนต่างถิ่นที่ชนพื้นเมือง อีกทั้ง การทำเหมืองแร่ยังสร้างสิ่งปนเปื้อนเข้าสู่ธรรมชาติ พื้นที่แหล่งน้ำ พืชพื้นเมืองก็เริ่มเหี่ยวเฉา หนองน้ำที่เคยอุดมไปด้วยทรัพยากรสำคัญที่เป็นอาหารของชนพื้นเมือง ได้กลายเป็นระบบชลประทานสำหรับพื้นที่เพาะปลูกของคนขาว รวมถึงการล่าควายไบซันเพื่อการค้าธุรกิจและล่าเพื่อแสวงหาผลกำไร
เป็นผลให้ควายถูกล่าและลดจำนวนลงอย่างมาก ผลกระทบจากจำนวนควายไบซันที่ลดลงจนเกือบสูญพันธุ์นั้นรุนแรงต่อชนพื้นเมือง เพราะควายไบซัน คืออาหาร คืออุปกรณ์ดำรงชีพ และวิถีชีวิตท้องถิ่น มีการประเมินว่าควายไบซันมีจำนวนมากถึง 60 ล้านตัว
ก่อนการมาถึงของยุคตื่นทอง แต่ในตอนท้ายของยุคจำนวนของไบซันเหลือเพียง 100 กว่าตัว ในปี ค.ศ. 1870 (ก่อนจะมีกฎหมายคุ้มครองควายไบซันในภายหลัง ที่ทำให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น)
เพลง Sutter’s Mill ของ ‘Dan Fogelberg’ มีเนื้อหาที่ว่าด้วย ‘ความโลภ’ ในใจคนที่ไม่เคยมีวันถมเติมได้เต็ม จนเป็นต้นรากที่นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมร้ายแรง คนผู้เป็นเหยื่อความโลภในความนี้หมายรวมเฉพาะคนขาวผู้เข้ามาแสวงโชค
นั่นไม่ได้รวมถึงชนพื้นเมืองอินเดียนแดงเข้าไปด้วย ความโหดร้ายที่ชาวอินเดียนแดงได้รับนั้นไม่ถูกกล่าวถึงในบทเพลง Sutter’s Mill แต่อย่างใดเลย มีการกล่าวถึงชนพื้นเมืองในท่อนหนึ่งของเพลง แต่กลับเป็นการสวมบทผู้ร้ายให้ชนพื้นเมืองนี้แทน บทเพลงได้สรรสร้างให้พวกเค้าเป็นเจ้าถิ่นป่าเถื่อนที่คอยดักฆ่าคนที่สัญจรมาแสวงโชค “ในดินแดนป่าเถื่อนรกร้างบ้างตกเป็นเหยื่อธนูของเจ้าถิ่น ขณะที่พยายามจะข้ามที่ราบกว้างใหญ่” ดูเหมือนว่าชนพื้นเมืองที่น่าเศร้าผู้เป็นเหยื่อจากการแสวงหาผลประโยชน์ในท้องถิ่นตนจากบุคคลภายนอกนี้ ผู้ถูกกระทำอย่างโหดร้ายมาตั้งแต่ในช่วงตื่นทอง จนพ้นช่วงตื่นทองมานานแล้ว ก็ยังถูกกระทำทารุณซ้ำอีกรอบผ่านบทเพลง Sutter’s Mill นี้..
เนื้อเพลง Sutter’s Mill (แปล) https://youtu.be/GwEQvg0f0Uc
.
ในฤดูใบไม้ผลของปี 47 (1847)
เกิดเรื่องราวที่ถูกเล่าขาน
เฒ่าจอน ซัทเทอร์ ไปยังโรงเลื่อย
และได้พบชิ้นวัตถุที่ส่งประกายสีทอง
แล้วเขาจึงนำมันเข้าไปในเมือง
ข่าวจึงแพร่กระจายดุจไฟไหม้ป่า
และไม่ช้าเฒ่าจอน ซัทเทอร์ เริ่มคิดได้
ว่าเขาไม่น่าเก็บหินก้อนนั้นมาเลย
เพราะพวกเขาต่างมาอย่างกับฝูงตั๊กแตน
ทั้งผู้หญิง เด็ก ผู้ชาย
กองเกวียนของเขาเหล่านั้น
ได้ทิ้งรอยล้อไปจนทั่วแดน
บ้างก็ล้มเหลว บ้างก็สำเร็จ
บ้างก็ตาย บ้างก็ฆ่า
บ้างก็ขอบคุณพระเจ้าในสิ่งที่พระองค์มอบให้
บ้างก็สาปแช่งโรงสีของจอน ซัทเทอร์
พวกเขามาจากมหานครนิวยอร์ค
มาจากอลามาบา
พร้อมความฝันที่จะแสวงโชค
ในดินแดนป่าเถื่อนรกร้าง
บ้างตกเป็นเหยื่อธนูของเจ้าถิ่น
ขณะที่พยายามจะข้ามที่ราบกว้างใหญ่
และบ้างก็สูญหายในเทือกเขาร็อกกี้ทั้ง
ที่มือจับแข็งกุมสายบังเหียน
บ้างก็มุไปยังแคลลิฟอร์เนีย
บ้างก็ค่อยๆ เดินทางไป
แล้วราวฤดูใบไม้ผลิของปี 1860
พวกเขาได้เข้ามาสู่ดินแดนตะวันตก
แล้วทางรถไฟก็ตามมา
แล้วแผ่นดินก็ถูกหักร้างถางพง
แล้วเมื่อเฒ่าจอน ซัทเทอร์ตายลง
เขากลับไม่มีเงินติดตัวเลย
และบ้างก็สาปแช่ง
โรงเลื่อยของจอน ซัทเทอร์
.
ความโลภของคนนั้นไม่เคยถมเต็มได้..

1 comment

Just wish to say your article is as surprising. The clearness in your post is just cool and i could assume you’re an expert on this subject. Fine with your permission allow me to grab your RSS feed to keep updated with forthcoming post. Thanks a million and please keep up the enjoyable work.