เกษตร » มาเลย์+อินโดฯ ตั้งสภาน้ำมันปาล์ม..เอาจริงลงขันเริ่มแรก180 ล้านบาท..

มาเลย์+อินโดฯ ตั้งสภาน้ำมันปาล์ม..เอาจริงลงขันเริ่มแรก180 ล้านบาท..

5 สิงหาคม 2017
1972   0

หลังจากที่มีการเจรจากันมาระยะหนึ่งความฝันในการตั้งสภาน้ำมันปาล์มโลก แบบเดียวโอเปก กลายเป็นความจริงแล้วเมื่ออินโดนีเซียและมาเลเซีย สองผู้ผลิตน้ำมันปาล์มใหญ่สุดของโลกได้ทำสัญญาจัดตั้งสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (Council of Palm Oil Producing Countries—CPOPC) เตรียมชวนหลายชาติเข้าร่วม

สำนักข่าวเอพี รายงานว่าตัวแทนของ 2 ประเทศได้ลงนามในสัญญาจัดตั้ง CPOPC แล้ว โดยนาย ริซัล รอมลี (Rizal Ramli) รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของอินโดนีเซีย กล่าวว่าสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม จะเป็นตัวจักรสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มที่กำลังประสบปัญหาจากราคาตกต่ำและปัญหาการทำไร่ปาล์มที่ไม่ยั่งยืน

เอพี ระบุว่าการรวมตัวกันของสองประเทศนี้มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มมากเนื่องจาก 2 ประเทศนี้ผลิตน้ำมันปาล์มรวมกันได้ 85 % ของผลผลิตโลกและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองทำให้ต้องร่วมกันแก้ปัญหาราคาน้ำมันปาล์มตกต่ำ

รายงานข่าวระบุว่าภายใต้สัญญาการจัดตั้งสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มนี้ ประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียจะลงขันประเทศละ 5 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 180 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการดำเนินการด้านต่าง ๆ ซึ่งจะต้องมีการเจรจาในรายละเอียดต่อไป โดยจะมีการชักชวนประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอื่น ๆ เข้าร่วมได้เพื่อสร้างแรงต่อรองตลาดได้เต็มที่

Mr.Rizal Ramli กล่าวว่าสภาฯ จะทำงานแก้ไขอุปสรรคในการค้าน้ำมันปาล์มเพื่อเพิ่มการแข่งขันในตลาดโลก และสนับสนุนการทำไร่ปาล์มอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีผลทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าของไร่ปาล์ม 4 ล้านครัวเรือนในอินโดนีเซียและ 500,000 คนในมาเลเซียดีขึ้

“สภาจะเป็นตัวจักรในการพัฒนากรอบความยั่งยืนของน้ำมันปาล์มโดยการหนุนให้มีการทำไร่ปาล์มในมาตรฐานของความยั่งยืนระดับสูง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการเผาป่าเพื่อพื้นที่เกษตรในอินโดนีเซียและทำให้เกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดนทุก ๆ ปี”

ทางด้านมาเลเซีย Mr. Amar Douglas Unggah Embas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเพาะปลูก อุตสาหกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์ กล่าวว่า สภาฯ ที่จัดตั้งขึ้นมาไม่ได้ทำงานทางด้านการกำหนดราคาน้ำมันปาล์มแต่จะทำให้ราคามีความยั่งยืนโดยการบริหารจัดการสต็อกน้ำมันให้มีความสอดคล้องกัน

Mr. Douglas กล่าวว่าทางสภาฯ ในอันดับต่อไปจะมีการชักชวนประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอื่น ๆ อาทิ บราซิล โคลัมเบีย ไทย กานา ไลบีเรีย ไนจีเรีย ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์และอูกานดา เข้าร่วมเป็นสมาชิก.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 35 ฉบับที่ 3,108 วันที่ 26 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558