เลี้ยงสัตว์ » ฮามาต้า//พืชตระกูลถั่ว ทนเเล้ง โปรตีนสูง

ฮามาต้า//พืชตระกูลถั่ว ทนเเล้ง โปรตีนสูง

10 กันยายน 2019
37554   0

บทคัดย่อ
เป็นถั่วที่มีอายุ 2-3 ปี พุ่มเตี้ยตั้งตรง แตกกิ่งก้านแผ่คลุมพื้นที่ได้กว้าง ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง ทนทานต่อการแทะเล็มเหยียบย่ำของสัตว์ได้ดี ไม่ทนต่อสภาพพื้นที่ดินชื้นแฉะ ไม่ทนน้ำท่วมขัง ผลผลิตน้ำหนักแห้ง 1.5-2.0 ตันต่อไร่ต่อปี โปรตีน 16-18 เปอร์เซ็นต์
การปลูก
ใช้เมล็ดพันธุ์อัตรา 1.5-2.0 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านหรือโรยเป็นแถวๆห่างกัน 30-50 เซนติเมตร ก่อนปลูกต้องแช่เมล็ดในน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียส นาน 5-10 นาที
การใส่ปุ๋ย
……………ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยสูตร 12-24-12 อัตรา 30-50 กิโลกรัมต่อไร่ เป็นปุ๋ยรองพื้น และควรใส่ปุ๋ยคอกร่วมด้วย ในปีต่อ ๆ ไปควรใส่ปุ๋ยทริปเปิลซุปเปอร์ฟอสเฟต (0-46-0) อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี
การกำจัดวัชพืช
……………กำจัดวัชพืชครั้งแรกหลังจากปลูกถั่ว 3-4 สัปดาห์ และกำจัดวัชพืชครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกประมาณ 1-2 เดือน
การใช้ประโยชน์
……………การตัดถั่วฮามาต้ามาใช้เลี้ยงสัตว์ ควรตัดครั้งแรก 60-75 วันหลังปลูก โดยตัดสูงจากพื้นดิน 10-15 เซนติเมตร หรือปล่อยให้สัตว์เข้าแทะเล็มครั้งแรกเมื่อถั่วอายุ 70-80 วัน หลังจากนั้นจึงทำการตัด หรือปล่อยสัตว์เข้าแทะเล็มเป็นช่วง ๆ ทุก 30-45 วัน ถั่วฮามาต้าเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงโค กระบือ ในรูปถั่วสดหรือแห้ง
และเนื่องจากเป็นพืชที่โตเร็วติดเมล็ดมาก จึงทำให้เมล็ดตกค้างและงอกขึ้นมาใหม่ทุกปี การตัดให้กินสดหรือใช้เป็นอาหารหยาบหลักแทนหญ้าสดได้ เช่นการใช้ฮามาต้าแห้งเลี้ยงโคนมแทนการใช้หญ้าสดโดยปล่อยให้โคนมแทะเล็มในฤดแล้ง ฮามาต้าสามารถให้คุณค่าทางอาหารได้ดีพอ ๆ กับหญ้าขนสด โดยไม่ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของน้ำนมแตกต่างไปจากการปล่อยโคลงแทะเล็มใน แปลงหญ้าขน..
1. ควรตัดต้นถั่วฮามาต้าเมื่ออายุ 45-60 วัน ตัดให้สูงจากพื้นดินประมาณ 5-6 นิ้ว ผึ่งแดดให้แห้งโดยเร็ว ถั่วฮามาต้าแห้งระยะนี้จะมีโปรตีนประมาณ 18-11 เปอร์เซนต์
2. คุณสมบัติของพืชตระกูลถั่วทุกชนิดเมื่อแห้งใบจะร่วงได้ง่ายถั่วฮามาต้าก็เช่นกัน ฉะนั้นในการทำแห้งและขนส่งถั่วฮามาต้าแห้งต้องระมัดระวังให้มาก เพราะใบเป็นส่วนที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าลำต้น
3. ถั่วฮามาต้า คุณค่าทางอาหารจะต่ำเมื่ออายุมากขึ้น ฉะนั้นการใช้ถั่วฮามาต้าทั้งสดและแห้งเลี้ยงสัตว์ ควรต้องดูแลให้สัตว์ได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีอย่างเหมาะสม

รายละเอียดฮามาต้าถั่วพืชอาหารสัตว์

                ฮามาต้าเป็นพืชตระกูลถั่วที่เรียกกันติดปากเกษตรกรผู้ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ทั่วไป ชื่อเป็นทางราชการของถั่วฮามาต้าคือถั่วเวอราโนสไตโล ถิ่นกำเนิดจากประเทศอเมริกากลาง บริเวณทะเลคาริเบียน แต่ชนิดที่นำมาปลูกในประเทศไทยมาจากประเทศออสเตรเลียในปี 2514 เป็นพืช 2 ฤดู สามารถปลูกได้ง่ายในดิน หลายชนิด โดยเฉพาะในพื้นที่และสภาพฝนปานกลางทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถั่วฮามาต้าจะโตเร็วลักษณะเป็นทรงพุ่มเตี้ยแตกกิ่งก้านมาก ติดเมล็ดมาก เมล็ดมีความงอกสูงและสามารถขึ้นสู้กับหญ้าพื้นเมืองได้ดี โดยเฉพาะในที่โล่งแจ้ง ทนต่อการแทะเล็มและการเหยียบย่ำของสัตว์ ที่สำคัญคือต้านทานโรคแมลงได้ดี ถั่วฮามาต้ามีคุณค่าทางอาหารสูง โค-กระบือชอบกิน และไม่ปรากฎว่าเป็นพิษต่อสัตว์ สามารถใช้ถั่วฮามาต้าปลูกปนกับหญ้าได้หลายชนิดเพื่อปรับปรุงคุณภาพของหญ้าใช้สำหรับตัดหรือปล่อย..

..ให้สัตว์ลงแทะเล็มเพื่อใช้เป็นอาหารหลักของโค-กระบือโดยตรง เนื่องจากการขยายตัวในการผลิตโค-กระบือเพิ่มขึ้นมา ปัญหาด้านอาหารสัตว์ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะพื้นที่การเพาะปลูกมีจำกัด เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยทุ่งหญ้าสาธารณะ ป่าละเมาะ และที่รกร้างว่างเปล่า บริเวณชายป่าหรือเชิงเขา คันนาและสองข้างทางถนนเป็นที่เลี้ยงสัตว์ พืชที่ขึ้นส่วนใหญ่เป็นหญ้าที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ความสมบูรณ์ของหญ้าจะขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศ หญ้าธรรมชาติจะมีคุณค่าทางอาหารและผลผลิตต่ำ ฉะนั้น ความสมบูรณ์ของโค-กระบือทั่วไปจึงขึ้นกับสภาพดินฟ้าอากาศและความสมบูรณ์ของหญ้าที่มีตามธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่

สำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ความต้องการพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพยังมีสูงมาก เพราะหญ้าเป็นอาหารสัตว์ที่ให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารชนิดอื่น เช่น อาหารข้น เป็นต้น ฉะนั้นพืชอาหารสัตว์ที่ให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี ปลูกง่ายและโตเร็วจึงเป็นสิ่งที่นักเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยงโคนมต้องการ ในสภาพของฤดูแล้งที่พื้นดินทั่วไปไม่มีส่วนสีเขียวของหญ้าเลย พืชอาหารสัตว์ที่มีคุณสมบัติทนแล้งและทนการเหยียบย่ำจึงเป็นสิ่งที่ต้องการอย่างยิ่ง

                        ในปี 2523 เนื่องจากถั่วฮามาต้ามีคุณสมบัติที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับพืชตระกูลถั่วอื่น ๆ รัฐบาลภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานพัฒนาปศุสัตว์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันได้โอนมาอยู่ในกรมปศุสัตว์) จึงได้ใช้ถั่วฮามาต้าปรับปรุงทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะในบริเวณพื้นที่เชิงเขา หุบเขา ป่าเสื่อมโทรม ซึ่งเกษตรกรได้นำโค-กระบือไปเลี้ยงอยู่เป็นประจำเพื่อเพิ่มปริมาณพืชอาหารสัตว์ ปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์ และช่วยบำรุงดินด้วย โดยได้รับความร่วมมือจากกองบินเกษตรให้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินหว่านเมล็ดถั่วฮามาต้าในเขตพื้นที่หลายจังหวัดคือ

                ปี 2523 ใช้เมล็ดถั่วฮามาต้าหว่านในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ คลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 13,000 ไร่

                ปี 2524 ใช้เมล็ดถั่วฮามาต้าหว่านในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมาและอุบลราชธานี คลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 76,700 ไร่

                ปี 2525 ใช้เมล็ดถั่วฮามาต้าหว่านในเขตพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี เลย ชัยภูมิ สุรินทร์ อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ คลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 79,800 ไร่

                ในปี 2526 ทางรัฐบาลมีนโยบายให้ผลิตถั่วฮามาต้าทดแทนการปลูกมันสำปะหลัง ทั้งนี้เนื่อง-จากพื้นที่ส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่น้อยกว่า 4.5 ล้านไร่ที่เกษตรกรใช้ปลูกมันสำปะหลัง เพราะสามารถส่งมันสำปะหลังไปขายต่างประเทศได้มาก ทำให้ราคามันสำปะหลังสูงขึ้น ปริมาณผลผลิตส่งออกส่วนใหญ่ในรูปมันสำหลังเส้นและมันสำปะหลังอัดเมล็ดประมาณร้อยละ 90 ส่งออกไปจำหน่ายยังประชาคมยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักและเมื่อถูกจำกัดประมาณการนำเข้าให้ลดลง ทำให้เกิดปัญหามันสำปะหลังล้นตลาด ราคามัน ตกต่ำ..

รัฐบาลจึงได้หามาตรการแก้ไขปัญหานี้ และนโยบายแก้ไขวิธีหนึ่งคือ ควบคุมการปลูกมันสำปะหลังโดยมีนโยบายสนับสนุนให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่นแทน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ จึงได้มีโครงการการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกถั่วฮามาต้าทดแทนในพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังบางส่วน โดยอัดฟ่อนเป็นถั่วฮามาต้าแห้งเพื่อจำหน่ายผู้เลี้ยงสัตว์ เป็นการเพิ่มปริมาณพืชอาหารสัตว์สำหรับผลผลิตโค-กระบือ และเป็นการเพิ่มรายได้ชดเชยเกษตรกรทางหนึ่ง

 โดยพิจารณาส่งเสริมเกษตรกรพื้นที่ในเขตจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังถึง 2.2 ล้านไร่ ปริมาณพื้นที่ส่งเสริมให้ปลูกถั่วฮามาต้าทดแทนมันสำปะหลัง 20,000 ไร่ และรับซื้อถั่วฮามาต้าแห้งอัดฟ่อนจากเกษตรกรคืนเพื่อนำไปจำหน่ายให้ผู้เลี้ยงสัตว์และหน่วยงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป มีระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2527 - 2532

                การศึกษาวิจัยด้านผลผลิตและคุณค่าทางอาหารของถั่วฮามาต้า ได้มีนักวิชาการหลายท่านที่ สนใจและได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับถั่วฮามาต้าพอสรุปได้ดังนี้

                ถั่วฮามาต้า สามารถปลูกโดยใช้เมล็ดหว่านทับหน้าดินหลังจากไถย่อยดินดีแล้วโดยไม่ต้องไถกลบ ใช้เมล็ดถั่วในอัตรา 1.5 - 2 กิโลกรัม/ไร่ และควรแช่เมล็ดในน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 80 ํ C(เซลเซียส) นาน 10 นาทีก่อนนำไปปลูก อาจปลูกเฉพาะถั่วฮามาต้าชนิดเดียวหรือปลูกปนกับหญ้าอื่น ๆ เช่น หญ้าขน (มอริชัส) หญ้าเฮมิล คอสตอลเมอมิวด้าหรือบัฟเฟิลก็ได้โดยถั่วฮามาต้าสามารถจะคงอยู่กับหญ้าภายหลังการปล่อยสัตว์แทะเล็มหรือทนทานการ

เหยียบย่ำได้ดี สำหรับในสภาพดินทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือควรใช้ปุ๋ยฟอสเฟต (หินฟอสเฟต) อัตรา 30 กิโลกรัม/ไร่ ปูนยิบซั่มอัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ และในดินทางภาคเหนือนอกจากปุ๋ยทั้งสองชนิดนี้แล้ว ควรใช้ปุ๋ยโพแตสเซียมคลอไรด์อัตรา 25 กิโลกรัม/ไร่ ร่วมด้วยจะได้ผลดี จากผลการทดลองของนักวิจัยหลายท่านพบว่า ถ้าใช้ระยะเวลาการปลูกและการเขตกรรมที่เหมาะสมแล้ว ถั่วฮามาต้ายังสามารถใช้ปลูกเป็นพืชอาหารสัตว์ร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น มันสำปะหลังและปอ เป็นต้น
คุณค่าทางอาหาร ถั่วฮามาต้าจะมีโปรตีนสูงเมื่ออายุน้อย และจะลดลงเรื่อย ๆ เมื่อต้นถั่วมีอายุมากขึ้นหลังจากถั่วฮามาต้าตั้งตัวดีแล้ว ในช่วงฤดูฝนสามารถปล่อยสัตว์แทะเล็มได้หลายครั้งโดยต้นถั่วจะแตกยอดอ่อนและให้คุณค่าทางอาหารสูง ถ้าจะตัดให้สัตว์กินหรือตัดทำหญ้าแห้งควรตัดเมื่ออายุต้นถั่วอยู่ระหว่าง 45-60 วัน และไม่ควรเกิน 60 วัน เพราะช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เหมาะที่สุด เพื่อจะได้ต้นถั่วที่ให้โปรตีนสูงระหว่าง 17-18 เปอร์เซนต์ และให้ผลผลิตน้ำหนักแห้งระหว่าง 1,425 – 1,838 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าถั่วอายุมากกว่านี้ปริมาณผลผลิตอาจจะสูงก็จริง แต่ลักษณะของลำต้นจะแข็งสัตว์ไม่ชอบกิน ใบจะร่วงเหลือน้อยลง ซึ่งจะมีผลทำให้คุณค่าทางอาหารลดลงด้วย ถ้าตัดเมื่ออายุน้อยจะได้คุณค่าทางอาหารสูงแต่จะได้ผลผลิตต่ำ ระยะที่เหมาะสมที่สุดควรตัดที่ระยะ 45-60 วัน ซึ่งจะได้ถั่วที่สัตว์สามารถย่อยไปใช้ได้ร้อยละ 50-55 และย่อยเอาส่วนของโปรตีนไปใช้ได้ร้อยละ 65 – 69 ในกรณีที่จะเก็บเมล็ดพันธุ์ถั่วเอาไว้ก็ควรปล่อยสัตว์แทะเล็มครั้งสุดท้าย เมื่อต้นถั่วสูงจากพื้นดินประมาณ 20 ซม. แล้วจึงงดปล่อยโคอย่างช้าไม่เกินกลางเดือนสิงหาคม ทั้งนี้เนื่องจากในระยะนี้เป็นต้นไปถั่วจะติดดอก และจะติดดอกมากในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม

                 การใช้เป็นอาหารสัตว์ ถั่วฮามาต้าเฉพาะส่วนที่เป็นใบล้วน ๆ และผึ่งแดดแห้งจะมีโปรตีนสูงสามารถใช้เป็นแหล่งโปรตีนจากพืชแทนใบกระถินป่น ใช้ผสมในอาหารสำหรับเลี้ยงไก่เนื้อได้ในระดับ 5 % จะให้ผลต่ออัตราการเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการใช้อาหาร ปริมาณอาหารที่กินและต้นทุนการผลิตดี ไม่แตกต่างไปจากการใช้ใบกระถินป่น แต่สำหรับถั่วฮามาต้าสดเมื่อนำมาเลี้ยงห่านจะไม่ชอบกินไม่ว่าจะใช้ร่วมกับอาหารข้นหรือไม่ ฉะนั้นจึงไม่เหมาะสมจะนำมาเลี้ยงห่านในทุกช่วงอายุของห่าน

                ถั่วฮามาต้าเหมาะสำหรับปลูกปนในทุ่งหญ้าและใช้ปรับปรุงสภาพทุ่งหญ้าเพื่อให้สัตว์แทะเล็มได้เป็นอย่างดี ถั่วฮามาต้าคงทนต่อการเหยียบย่ำของสัตว์และเนื่องจากเป็นพืชที่โตเร็วติดเมล็ดมาก จึงทำให้เมล็ดตกค้างและงอกขึ้นมาใหม่ทุกปี การตัดให้กินสดหรือใช้เป็นอาหารหยาบหลักแทนหญ้าสดได้ เช่นการใช้ฮามาต้าแห้งเลี้ยงโคนมแทนการใช้หญ้าสดโดยปล่อยให้โคนมแทะเล็มในฤดแล้ง ฮามาต้าสามารถให้คุณค่าทางอาหารได้ดีพอ ๆ กับหญ้าขนสด โดยไม่ทำให้ผลผลิตและคุณภาพของน้ำนมแตกต่างไปจากการปล่อยโคลงแทะเล็มใน แปลงหญ้าขน อย่างไรก็ตาม การทำถั่วฮามาต้าแห้งเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ควรมีวิธีการผลิตที่ถูกต้องจึงจะได้ถั่ว ฮามาต้าแห้งที่มีคุณภาพดี ดังนี้

                  1. ควรตัดต้นถั่วฮามาต้าเมื่ออายุ 45-60 วัน ตัดให้สูงจากพื้นดินประมาณ 5-6 นิ้ว ผึ่งแดดให้แห้งโดยเร็ว ถั่วฮามาต้าแห้งระยะนี้จะมีโปรตีนประมาณ 18-11 เปอร์เซนต์

                2. คุณสมบัติของพืชตระกูลถั่วทุกชนิดเมื่อแห้งใบจะร่วงได้ง่ายถั่วฮามาต้าก็เช่นกัน ฉะนั้นในการทำแห้งและขนส่งถั่วฮามาต้าแห้งต้องระมัดระวังให้มาก เพราะใบเป็นส่วนที่มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าลำต้น

                   3. ถั่วฮามาต้า คุณค่าทางอาหารจะต่ำเมื่ออายุมากขึ้น ฉะนั้นการใช้ถั่วฮามาต้าทั้งสดและแห้งเลี้ยงสัตว์ ควรต้องดูแลให้สัตว์ได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีอย่างเพียงพอกับความต้องการ

                  โฉมหน้าใหม่ของนักเลี้ยงสัตว์และผู้สนใจในอาชีพการเลี้ยงโค-กระบืออย่างแท้จริง คงจะไม่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนหญ้าหรือพืชอาหารสัตว์คุณภาพดีอีกต่อไป ถ้าผู้เลี้ยงจะได้สนใจในปัญหานี้ อาจจจะมีพื้นที่ในบริเวณบ้านหรือที่พักอาศัยเพียงเล็กน้อยก็สามารถมีอาหารสัตว์ได้ โดยปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องอาหารและพันธุ์หญ้าที่เหมาะสมถั่วฮามาต้า จะมีเจ้าหน้าที่ของกองอาหาร-สัตว์หรือสถานีพืชอาหารสัตว์ของกรมปศุสัตว์ให้คำปรึกษาแนะนำ นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังจัดเมล็ดพันธุ์หญ้าจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในราคาถูก (กิโลกรัมละ 50 บาท) ปัจจุบันนี้ ถั่วฮามาต้าได้รับความนิยมจากเกษตรกรสูงขึ้น ๆ โดยสังเกตจากปริมาณการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ถั่วฮามาต้าที่กรมปศุสัตว์นั้นเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้นหากจะคิดเลี้ยงโคให้ประสบความสำเร็จด้วยดีก็ควรที่จะต้องเตรียมพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดีไว้ให้พร้อมไว้ก่อน และให้มีปริมาณเพียงพอที่จะใช้ได้ตลอดไป สำหรับผู้เลี้ยงอยู่แล้วการใช้ถั่วฮามาต้าปรับปรุงคุณภาพของพืชอาหารสัตว์ ก็เป็นเรื่องที่ควรจะพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

https://line.me/R/ti/g/D4jFwI2hnF
(แอดไลน์มาที่ทีมงาน 108kaset 0874638654 แล้วจะดึงเข้ากลุ่มครับ )


ที่มา – https://108kaset.com/2019/09/10/hamata/