ลึกลับ&ดวง » เผยความลับครั้งแรก!…. มวลสารสร้างสมเด็จฯ

เผยความลับครั้งแรก!…. มวลสารสร้างสมเด็จฯ

6 มิถุนายน 2020
9974   0

△”เสี่ยกุ่ย รัชดา” เผยความลับครั้งแรก!….

มวลสารสร้างสมเด็จด้วยกล้องเทคโนโลยีสูง

และ เปิดประวัติการสร้างที่จัดเจนทุกแง่มุม


มวลสารหลัก พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม

มวลสารคือคุณสมบัติทางกายภาพเฉพาะตัวของพระสมเด็จวัดระฆัง เพราะสมเด็จโตเป็นคนแรกที่ผสมมวลสารลงไปในปูนเปลือกหอยก่อนนำมาหมักและกดสร้างพระ
เรียกได้เลยว่าสัญลักษณ์พิเศษที่ไม่เหมือนใครของพระสมเด็จวัดระฆัง คือต้องมีมวลสาร พระผงชนิดอื่นในยุคนั้น เช่น พระวัดเงิน พระสมเด็จอรหัง พระวัดพลับ ล้วนไม่มีมวลสารในพระ
มวลสารมีหลายรูปแบบ เยอะแยะเต็มไปหมด แต่ไม่ได้มีครบทุกอย่างในพระสมเด็จหนึ่งองค์ อาจมีมาก มีน้อย หรือมีไม่ครบตามตำราก็เป็นได้ มวลสารอาจมีเพียงอย่างสองอย่างปรากฏให้เห็น หรือมีมากมายหลาย ๆ อย่าง
มวลสารต้องปรากฏให้เห็นเป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลัง การโรยผงเก่าหรือมวลสารลงในพิมพ์ก่อนกดพระมีมาในสมัยหลัง ประมาณหลังปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เริ่มจากหลวงตาพันเอาผงเก่าของพระสมเด็จบางขุนพรหมสมัยเปิดกรุมาใช้ทำพระ จนมาถึงยุคบางขุนพรหม ๐๙ เป็นต้นมาที่มีการโรยผงเก่าข้างหน้าหรือข้างหลัง ส่วนที่วัดระฆังก็มีในยุคหลวงปู่นาค หลวงปู่หินรุ่นแรก ๆ
มวลสารคืออะไร
มวลสารคือสิ่งแปลกปลอมในความขาวของพระเนื้อผงที่ทำจากปูนเปลือกหอย เห็นเด่นชัดแตกต่างจากเนื้อผงขาวขององค์พระ ดูเป็นธรรมชาติและเข้ากันเป็นเนื้อเดียวกันกับเนื้อปูน ไม่ใช่จงใจทำให้เห็น
พูดง่าย ๆ จะไม่มีพระสมเด็จที่แม้จะมีพิมพ์ทรงเดียวกัน แต่จะมีมวลสารปรากฏไม่เหมือนกัน
มวลสารที่อาจปรากฏให้เห็นไม่ว่ามากหรือน้อยชนิด กระจายอยู่ส่วนต่าง ๆ ขององค์ไม่เท่ากัน อาจมีน้อย มีมาก หรือไม่มีเลยในแห่งใดแห่งหนึ่ง แต่เมื่อดูอย่างพินิจพิเคราะห์ทั่วองค์แล้ว พระสมเด็จวัดระฆังต้องปรากฏมวลสารให้เห็นในทุกองค์
พระสมเด็จองค์ใดที่ไม่ปรากฏมวลสารเลย  ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่ได้สร้างโดยสมเด็จโต
การเปลี่ยนแปลงไม่คงที่หรือมีอัตราส่วนตายตัวของมวลสารเป็นข้อสังเกตอย่างหนึ่งของพระสมเด็จวัดระฆัง มีที่มาจากตัวแปรดังต่อไปนี้
๑.      พระสมเด็จวัดระฆังไม่ได้สร้างเสร็จในครั้งเดียวกัน สร้างกันหลายครั้งหลายยุคในช่วงเวลากว่า ๑๐ ปี กว่าจะได้พระครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ต้องสร้างกันหลายร้อยครั้ง
๒.      การสร้างแต่ละครั้งมวลสารที่หาได้มีไม่เท่ากัน อาจมีตัวหนึ่งมากตัวหนึ่งน้อย หรือหาไม่ได้เลยในครั้งนั้น พูดง่าย ๆ ในการตำมวลสารแต่ละครกส่วนผสมที่ใส่ลงไปก็ไม่เหมือนกัน
๓.      ในครกเดียวกันมวลสารก็ต่างกัน มวลสารเบาจะลอยตัวอยู่ส่วนบนของครก มวลสารหลักจะตกลงสู่ก้นครก
๔.      คนกดพระก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ ลูกศิษย์ที่มีสมาธิก็กดด้วยความบรรจงประณีต พระออกมาสวยงาม แต่ถ้าทำอย่างไม่พิถีพิถัน ก็อาจกดพระไม่เต็มเพราะทำให้น้ำหนักมือตอนกดมีไม่มากพอ พระออกมามีความตื้นไม่คมลึก รวมทั้งเวลาตัดขอบพระก็อาจออกมาไม่สวยงาม ตัดขาดตัดเกินบ้าง
๕.      ระยะเวลาและความชื้นของมวลสารก็ทำให้พระเปลี่ยนแปลงไปได้ พระที่แฉะหรือเปียกมากมักมีแป้งโรยพิมพ์หรือส่าปูนเกาะผิวแน่นทำให้ไม่เห็นมวลสาร ในขณะที่เนื้อพระในครกที่เริ่มแห้งจะทำให้กดพิมพ์พระออกมาไม่เต็มพิมพ์ รายละเอียดบางส่วนอาจขาดหายไป รวมทั้งมวลสารจะปรากฏให้เห็นมากเนื่องจากเป็นเนื้อก้นครก หรือเนื้อปูนค่อนข้างแห้ง
มวลสารมีอะไรบ้าง
รายชื่อมวลสารของสมเด็จวัดระฆังเป็นการสืบทอดกันมาในหมู่ผู้เล่นหาและมีระบุไว้ในหนังสือพระรุ่นเก่า มวลสารแบ่งออกได้ดังนี้
๑.     มวลสารหลัก
ได้แก่ปูนเปลือกหอยที่ตำในครก ผ่านตระแกรงร่อนจนได้ผงขาวละเอียด และนำมาหมักให้ปูนได้อายุก่อนจะผสมกับมวลสารรองในครกและปั้นเป็นแท่งยาวขวั้นเป็นท่อนเล็ก ๆ ก่นอนำมากดสร้างพระ
นอกจากเนื้อปูนเปลือกหอยแล้ว มวลสารอื่นอาจได้แก่
–           จุดแดง
–           จุดดำ
–           จุดขาว
ที่มีผู้สันนิษฐานว่ามาจากโรงงานเผาปูนที่ใช้ไม้โกงกางเป็นเชื้อเพลิงและอิฐเป็นกำแพงของเตาเผา
๒.     มวลสารรอง
แบ่งได้เป็น ๒ ชนิดคือ
๑.     มวลสารเหลือใช้ในชีวิตประจำวันของพระสงฆ์ ได้แก่
–           เกสรดอกไม้
–           เศษอิฐ
–           ไคลเสมา
–           ขี้เถ้าธูป
–           เทียน
–           ก้านธูป
–           เศษจีวร
–           กล้วย
–           ข้าวสุก
–           อาหารที่สมเด็จโตกันไว้เพื่อมาผสมเป็นมวลสารรอง
๒.     มวลสารมงคล คือมวลสารที่เพิ่มพุทธคุณให้กับพระสมเด็จ แบบเดียวกับแผ่นโลหะที่ลงจารคาถา 108 ที่ต้องใช้ในการทำกริ่ง เหรียญ และพระโลหะทั่วไป ได้แก่
–           ผงวิเศษ ๕ ประการ ที่ทำจากดินสอพอเป็นแท่งดินสอ
–           ทรายเงิน ทรายทอง
–           ผงตะไบโลหะที่ใช้สร้างพระพุทธรูป
–           ใบลานเผา
–           ว่านมงคล ๑๐๘ อย่าง
–           พระสมเด็จที่แตกหักจากการทำพระก่อนหน้านี้
–           เม็ดพระธาตุจากการรวมตัวกันของผงวิเศษ
–           รัตนชาติ เช่น พลอยสีต่าง ๆ
–           ดินมงคลจากสถานที่ต่าง ๆ
อย่าลืมว่าไม่ใช่พระสมเด็จทุกองค์มีมวลสารเหล่านี้ครบ หรือมีให้เห็นจำนวนมาก
ในพระสมเด็จวัดระฆังแต่ละองค์อาจเห็นมวลสารเพียง ๒, ๓ อย่าง ก็ถือว่ามีมวลสารให้เห็นแล้ว ไม่มีข้อยุติตายตัวว่ามีมวลสารชนิดใดเป็นหลัก เพราะจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่สร้างพระเนื้อผงพิมพ์พระสมเด็จมา ๓ ครั้ง บางครั้งมีมวลสารอยู่ครึ่งปี๊บทั้งพระเก่าหัก บวกมวลสารมงคลต่าง ๆ มากมายใช้สร้างพระไม่กี่พันองค์ยังไม่เห็นปรากฏในเนื้อพระ เพราะช่างได้ผสมคลุกเคล้าเป็นเนื้อเดียวกัน จึงไม่ลอยตัวให้เห็นเท่าไหร่นัก
มวลสารต้องมีให้เห็นแบบพอดี ไม่มากไปหรือน้อยไป และไม่มีการจงใจหรือเจตนาที่จะทำให้ปรากฏในองค์พระแบบสมัยนี้ที่ใช้วิธีโรยผงเก่าทั้งด้านหน้าและด้านหลังองค์พระ
มวลสารวัดอื่น
นอกจากวัดระฆังแล้วมวลสารวัดอื่นก็มีเอกลักษณ์ประจำตัว
วัดบางขุนพรหมในหรือวัดใหม่อมตรส
มวลสารจะมี ๒ ประเภทตามสถานที่บรรจุกรุ
–           กรุเจดีย์ใหญ่ เป็นการผสมและกดพิมพ์สร้างพระสมเด็จในคราวเดียวกันเพื่อให้ได้จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ พระที่สร้างขึ้นจะมีมวลสารน้อยและหนักไปทางมงคลสารหมักมากกว่า เนื้อพระจึงเป็นแบบปูนแกร่ง ไม่ปรากฎมวลสารแบบวัดระฆัง
ยกเว้นพระสมเด็จวัดระฆังที่สมเด็จโตนำมาบรรจุกรุด้วยเพื่อรวบรวมให้ได้จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามพระธรรมขันธ์ซึ่งเป็นการถือเคล็ดตัวเลขมงคลอย่างหนึ่ง พระสมเด็จวัดระฆังที่มาบรรจุในกรุบางขุนพรหมจะมีชื่อว่า “พระสองคลอง” (ความจริงควรเรียกเป็นพระสองฝั่งแม่น้ำ เพราะวัดอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา) พระสองคลองจะมีมวลสารแบบวัดระฆังและมีคราบกรุแบบบางขุนพรหม
–           กรุเจดีย์เล็ก เป็นพระที่สร้างขึ้นหลังสมเด็จโตมรณภาพแล้ว ส่วนผสมจึงเหมือนกับกรุเจดีย์ใหญ่ คือเป็นเนื้อปูนแกร่งจากปูนเปลือกหอย ไม่ค่อยมีมวลสารอื่น
วัดบางขุนพรหมนอก หรือวัดอินทรวิหาร
มีมวลสารอยู่ระหว่างพระสมเด็จวัดระฆังกับบางขุนพรหม คือมีมวลสารมากกว่าบางขุนพรหมแต่ไม่เท่าวัดระฆัง
วัดพระแก้ววังหน้า หรือ พระวังหน้า
เป็นพระเนื้อผงที่สร้างขึ้นหลังสมเด็จโตมรณภาพ อาจสร้างขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งก็เป็นได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีพระชุดที่สร้างในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ เพื่อฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระวังหน้าจะมีชาดสีแดงออกเรื่อ ๆ มีตะไบทองและมีการผสมสีในเนื้อผงทำให้เกิดพระสมเด็จชุดหนึ่งที่มีหลายสี เรียกว่า ปัญจสิริ คือมีถึง ๕ สี
สรุป
มงคลสารพระสมเด็จวัดระฆังมีหลากหลาย เนื่องจากการทำพระแต่ละครั้งจะได้พระไม่กี่ร้อยองค์ ทำให้ต้องสร้างหลายครั้งใช้เวลาเกิน ๑๐ ปี กว่าจะได้พระครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ ฉะนั้นมวลสารจึงเป็นสิ่งไม่แน่นอน และแปรเปลี่ยนตามการสร้างแต่ละครั้ง

มวลสารต้องมีให้เห็น ถ้ามีน้อยไม่เป็นไร ถ้ามีมากเกินไปสงสัยได้ก่อนว่าเจตนาใส่ให้เห็นหรือเปล่า หรือเป็นแบบก้นครกคือ มวลสารตกตะกอนอยู่มากกว่าข้างบนครก

ขอบคุณ http://www.dopratae.com/%E0%B8%9A%E0%B8%9..
https://www.google.com/search?client=firefox-b-d&q=%E0..