สุขภาพ-ชีวิต » ไวรัสไข้หวัดธรรมดาช่วยให้คนเราไม่ติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างไร?

ไวรัสไข้หวัดธรรมดาช่วยให้คนเราไม่ติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างไร?

14 กันยายน 2021
852   0

ไวรัสไข้หวัดธรรมดาช่วยให้คนเราไม่ติดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างไร?

 

“..ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดชี้ว่า โรคหวัด อาจทำให้คนบางคนมีภูมิคุ้มกันโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสแต่ละคนจึงมีการตอบสนองต่อเชื้อไวรัสนี้แตกต่างกันไป…”

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากสกอตแลนด์พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเชื้อ “ไรโนไวรัส” (rhinovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดามีประสิทธิภาพที่ช่วยให้เซลล์ในร่างกายคนเราไม่ติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ได้

ตามธรรมชาติแล้ว เชื้อไวรัสบางชนิดมีพฤติกรรมแข่งขันกันเพื่อให้เป็นเชื้อโรคเพียงชนิดเดียวที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายของสิ่งมีชีวิต

งานวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Infectious Diseases พบหลักฐานที่ดูเหมือนว่า เชื้อไรโนไวรัสจะสามารถเอาชนะเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 (Sars-CoV-2) ได้..

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า แม้ประโยชน์นี้จะส่งผลได้เพียงระยะสั้น ๆ แต่การที่ไรโนไวรัสเป็นเชื้อที่พบได้แพร่หลายมากในมนุษย์ ก็อาจช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 ได้

ปฏิสัมพันธ์ของไวรัส

ลองคิดเปรียบเทียบว่าเซลล์ในจมูก ช่องคอ และปอดของคุณเป็นเหมือนกับตึกแถว ที่เมื่อเชื้อไวรัสเข้าไปข้างในมันก็จะสามารถเปิดประตูให้เชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ เข้าไปข้างในด้วย หรือจะตอกตะปูปิดประตูเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในบ้านหลังใหม่ได้เพียงคนเดียว

เชื้อก่อไข้หวัดถือเป็นหนึ่งในเชื้อไวรัสที่เห็นแก่ตัวมากที่สุด และเมื่อเข้าสู่ร่างกายคนเราแล้ว ก็มักจะเป็นเชื้อเพียงชนิดเดียวที่ทำให้ร่างกายเกิดอาการติดเชื้อ โดยไม่ปล่อยให้เชื้อชนิดอื่นเข้ามาอยู่ร่วมด้วย

ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลกนั้น ก็มีการคาดเดาเป็นวงกว้างว่าเชื้อโรคชนิดนี้จะเข้าไปอยู่ในวงจรปริศนาของ “การปฏิสัมพันธ์ระหว่างไวรัสกับไวรัส” หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายที่นักวิทยาศาสตร์กำลังเผชิญในปัจจุบัน ก็คือการที่ผู้คนเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้เชื้อไวรัสชนิดต่าง ๆ แพร่กระจายได้ช้าลง ส่งผลให้การศึกษาเรื่องนี้ทำได้ยากขึ้นนั่นเอง

งานวิจัยพบอะไร

ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์เพื่อการวิจัยไวรัสในเมืองกลาสโกว์ ศึกษาเรื่องนี้โดยใช้เนื้อเยื่อบุช่องทางเดินหายใจจำลองที่สร้างขึ้นจากเซลล์ชนิดเดียวกัน แล้วทำให้เนื้อเยื่อดังกล่าวติดเชื้อ Sars-CoV-2 และเชื้อไรโนไวรัส

ผลปรากฏว่า หากปล่อยเชื้อทั้งสองชนิดออกมาในเวลาพร้อมกัน จะมีเพียงเชื้อไรโนไวรัสที่ประสบความสำเร็จและทำให้เกิดการติดเชื้อ

หากปล่อยเชื้อไรโนไวรัสออกมาก่อน 24 ชั่วโมง เชื้อก่อโรคโควิด-19 ก็จะไม่มีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อได้เลย และถึงแม้จะปล่อยเชื้อ Sars-CoV-2 ออกมาก่อน 24 ชั่วโมง แต่เชื้อไรโนไวรัสก็ยังเอาชนะได้อยู่ดี

ดร.ปาโบล มัวร์เชีย หนึ่งในทีมวิจัย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า “เชื้อ Sars-CoV-2 ไม่มีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อ เพราะถูกขัดขวางอย่างรุนแรงจากไรโนไวรัส”

“มันน่าตื่นเต้นมาก เพราะหากคุณมีเชื้อไรโนไวรัสจำนวนมากก็อาจช่วยยับยั้งการติดเชื้อ Sars-CoV-2 ได้” เขากล่าว

นักวิทยาศาสตร์เคยเห็นปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต โดยพบว่าการระบาดของเชื้อไรโนไวรัส อาจช่วยชะลอการระบาดของโรคไข้หวัดหมูในปี 2009 ในบางพื้นที่ของยุโรป

การทดลองเพิ่มเติมหลายชิ้นยังพบว่า เชื้อไรโนไวรัสไปกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในเซลล์ที่ติดเชื้อ ซึ่งส่งผลให้เชื้อ Sars-CoV-2 ไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้

แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ไปปิดกั้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ก็พบว่าระดับของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 อยู่ในระดับเดียวกับตอนที่ไม่มีเชื้อไรโนไวรัสอยู่.

ขอบคุณhttps://www.bbc.com/thai/international-56501268
https://www.google.com/search?q=%E0%B9%80%E0%B..

แพทย์อินโดนีเซีย14คน เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งๆที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว!!